แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดฐานละเมิด เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ขับรถบรรทุกน้ำมันโดยประมาทเลินเล่อชนท้ายรถโจทก์ได้รับความเสียหาย โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานะบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งห้าให้การต่อสู้และบรรยายในคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความว่าเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยร่วมที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยร่วมที่ 2 และขอให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) เพื่อวินิจฉัยว่าความประมาทเลินเล่อเกิดจากฝ่ายใด และเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้หมายเรียกแล้ว จำเลยร่วมที่ 2 ให้การปฏิเสธว่า จำเลยร่วมที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว ในขณะเดียวกันก็ให้การต่อสู้โจทก์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ซึ่งเป็นการโต้แย้งทั้งโจทก์และจำเลยทั้งห้า แสดงให้เห็นว่าทั้งสามฝ่ายต่างโต้แย้งเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งห้ายังคงอุทธรณ์อ้างว่า เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยร่วมที่ 1 ส่วนจำเลยร่วมที่ 2 อุทธรณ์ว่า เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว จำเลยร่วมที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมที่ 2 นอกจากจะโต้แย้งโจทก์แล้วยังโต้แย้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกันด้วย ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แต่ละฝ่ายแก้อุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมที่ 2 โดยไม่สั่งให้จำเลยแต่ละฝ่ายส่งสำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อยื่นคำแก้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 235 เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา ศาลฎีกาชอบที่จะยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วย้อนสำนวนให้กลับไปดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2), 247 และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้มีการยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งห้าก็มีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 121,218 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 113,418 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้เรียกนายเดชศักดิ์ ผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อ และนางนาง เจ้าของรถบรรทุกสิบล้อคู่กรณีเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกนายเดชศักดิ์ว่า จำเลยร่วมที่ 1 และเรียกนางนางว่า จำเลยร่วมที่ 2
จำเลยร่วมที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยร่วมที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 93,418 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์มิได้ฟ้องหรือขอให้เรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาในคดี จึงเห็นสมควรให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 78,348.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยร่วมทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่โจทก์จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดฐานละเมิด เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ขับรถบรรทุกน้ำมันโดยประมาทเลินเล่อชนท้ายรถโจทก์ได้รับความเสียหาย โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานะบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งห้าให้การต่อสู้และบรรยายในคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายเดชศักดิ์ จำเลยร่วมที่ 1 ลูกจ้างของนางนาง จำเลยร่วมที่ 2 ที่ขับรถบรรทุกสิบล้อแซงปาดหน้ารถโจทก์ในที่คับขัน จนเกิดเหตุคดีนี้ และขอให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) เพื่อวินิจฉัยว่าความประมาทเลินเล่อเกิดจากฝ่ายใด และเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้หมายเรียกแล้ว จำเลยร่วมที่ 2 ให้การปฏิเสธว่า จำเลยร่วมที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว ในขณะเดียวกันก็ให้การต่อสู้โจทก์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ซึ่งเป็นการโต้แย้งทั้งโจทก์และจำเลยทั้งห้า แสดงให้เห็นว่าทั้งสามฝ่ายต่างโต้แย้งเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งห้ายังคงอุทธรณ์อ้างว่า เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยทั้งห้าไม่ต้องรับผิดด้วย ส่วนจำเลยร่วมที่ 2 อุทธรณ์ว่า เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว จำเลยร่วมที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย อันจะเห็นได้ว่าอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมที่ 2 นอกจากจะโต้แย้งโจทก์แล้วยังโต้แย้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกันด้วย ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แต่ละฝ่ายทำการแก้อุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมที่ 2โดยไม่สั่งให้จำเลยแต่ละฝ่ายส่งสำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อยื่นคำแก้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 235 เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ศาลฎีกาชอบที่จะยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้วย้อนสำนวนให้กลับไปดำเนินการใหม่เสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2), 247 และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้มีการยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยทั้งห้าก็มีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมที่ 2 ให้แก่จำเลยร่วมทั้งสองและจำเลยทั้งห้า แล้วส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ และให้ยกฎีกาของโจทก์คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่โจทก์.