คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2259/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ของขวัญที่เป็นของใช้ในครอบครัวซึ่งญาติและเพื่อนของคู่สมรสมอบให้เนื่องในวันสมรสนั้นผู้ให้ย่อมมีเจตนาที่จะให้คู่สมรสได้ใช้สอยเมื่ออยู่ร่วมกันถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ให้รายใดได้แสดงเจตนาไว้เป็นพิเศษว่ามอบให้แก่คู่สมรสฝ่ายใดโดยเฉพาะแล้วแม้จะเป็นของที่มอบให้ก่อนวันแต่งงาน1วันก็ตามก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสตกเป็นสินสมรสตามป.พ.พ.มาตรา1474(1) ของใช้ในครอบครัวแม้จะเป็นของขวัญวันแต่งงานหรือเป็นของที่ซื้อมาหลังการสมรสแล้วก็ตามก็เป็นสินสมรส เข็มขัดทองซึ่งเป็นของหมั้นให้แก่โจทก์นั้นเมื่อจำเลยได้ใช้ให้บุคคลภายนอกไปเอาคืนมาจากบิดาโจทก์จำเลยก็ต้องรับผิดคืนให้แก่โจทก์ด้วย.

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 หย่าขาดจากโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่จดทะเบียนหย่า ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสามคืนทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง รายการที่ 2, 6, 13, 4 แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้เงิน 134,300 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามคืนทรัพย์รายการที่ 5 อันเป็นสินส่วนตัวให้แก่โจทก์อีกด้วย หากคืนไม่ได้ให้ใช้เงิน5,600 บาท แก่โจทก์และทรัพย์รายการที่ 1, 3, 4, 7, 9, 10, 11 และ12 เป็นสินสมรส ให้แบ่งแก่โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละครึ่ง ถ้าแบ่งกันไม่ได้ให้ขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินกันคนละครึ่ง ส่วนเข็มขัดทองหนัก 20 บาทนั้น โจทก์ไม่ได้มอบให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องคืนให้โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นข้อแรกที่จะวินิจฉัยก็คือ ทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องรายการที่ 1, 3, 4, 8, 9, 10, 12 คืนตู้เย็นซันโย พัดลมยืนและตั้งโต๊ะ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เก้าอี้หวาย2 ตัวใหญ่หมุนได้ ราวตากผ้าและชั้นตั้งของ เซฟเล็ก เตารีดเนชั้นแนล เป็นสินเดมของโจทก์หรือว่าเป็นสินสมรส โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า ทรัพย์รายการที่ 1, 3, 4, 9, 10, 12 คือ ตู้เย็นซันโย พัดลมยืนและตั้งโต๊ะ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ราวตากผ้าและชั้นตั้งของ เซฟเล็ก เตารีดเนชั้นแนล เป็นของขวัญที่ญาติและเพื่อนของโจทก์ซื้อให้โจทก์เนื่องในวันแต่งงาน และข้อเท็จจริงได้ความว่าเป็นของที่มอบให้โจทก์ก่อนวันแต่งงาน 1 วัน พิเคราะห์แล้วเห็นว่าของเหล่านี้เป็นของใช้ในครอบครัว เป็นของที่ให้เนื่องในโอกาสแต่งงานของโจทก์และจำเลยที่ 1 ผู้ให้ย่อมมีเจตนาที่จะให้คู่สมรสได้ใช้สอยเมื่อยู่ร่วมกัน ไม่ปรากฏว่าผู้ให้รายใดได้แสดงเจตนาไว้เป็นพิเศษว่ามอบให้แก่โจทก์โดยเฉพาะ ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส ตกเป็นสินสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) ที่ได้ตรวจชำระใหม่ส่วนทรัพย์ตามรายการที่ 8 คือ เก้าอีกหวาย 2 ตัวใหญ่หมุนได้นั้นโจทก์นำสืบว่าเป็นของขวัญวันแต่งงานซึ่งได้รับมาพร้อมกับของขวัญอื่น ๆ แต่จำเลยนำสืบว่าเป็นของที่ซื้อมาภายหลังแต่งงานแล้ว เห็นว่าทรัพย์รายการที่ 8 นี้ ถึงแม้จะฟังว่าเป็นของขวัญวันแต่งงาน หรือฟังว่าเป็นของที่ซื้อมาหลังแต่งงานแล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยแตกต่างกันไป คือต้องฟังว่าเป็นสินสมรส ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าทรัพย์รายการที่ 1, 3, 4, 8, 9, 10, 12เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปก็คือ เข็มขัดทอง ทรัพย์ตามรายการที่ 14 ซึ่งเป็นของหมั้นนั้น จำเลยที่ 2 และ 3 ให้นายเกียงชุ้นเอาคืนมาจากบิดาโจทก์ดังฟ้องหรือไม่ โจทก์มี ตัวโจทก์ นายจงบิดาโจทก์นางสาวสุภาวดี ปรีชาบริสุทธิกุล และนายเป้งเส็ง แซ่ลี้ เป็นพยานเบิกความประกอบกันว่า หลังจากแต่งงานแล้ว 3 วัน โจทก์กับจำเลยที่ 1 และนายเกียงชุ้นไปที่บ้านโจทก์ โดยนายเกียงชุ้นบอกบิดาโจทก์ว่าเข็มขัดทองเป็นของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ต้องการเอาคืนแล้วจะซื้อให้ใหม่ บิดาโจทก์จึงคืนเข็มขัดทองให้ไป นายเกียงชุ้นก็เบิกความยอมรับว่าได้ไปบ้านบิดาโจทก์พร้อมกับโจทก์และจำเลยที่ 1จริง แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้พูดขอเข็มขัดทองคืนแต่อย่างใด เพียงแต่ไปเป็นเพื่อในฐานะเป็นเถ้าแก่เท่านั้น แต่ตัวจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาจำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่า เข็มขัดทองเป็นของจำเลยที่ 3ตอนแรกได้เคยพูดกับนายเกียงชุ้นซึ่งเป็นเถ้าแก่ว่า เข็มขัดทองที่เป็นของหมั้นนั้สให้เอาไปจัดการหมั้น แต่เมื่อเสร็จแล้วให้ขอคืนมา แล้วแลกเป็นเงินสดให้ไป ส่วนนายเกียงชุ้นซึ่งเบิกความปฏิเสธว่า ไม่ได้พูดขอเข็มขัดทองคืนจากบิกาโจทก์นั้นเห็นว่า นายเกียงชุ้นเป็นคนของฝ่ายจำเลย ใช้แซ่เดียวกันกับจำเลยทั้งสาม คำของนายเกียงชุ้นที่เบิกความปฏิเสธดังกล่าวแล้ว จึงยากที่จะรับฟัง ตามพฤติการณ์แห่งคดีพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ให้นายเกียงชุ้นไปเอาเข็มขัดทองซึ่งเป็นของหมั้นคืนมาจากบิดาโจทก์ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อนี้ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3ต้องรับผิดคืนเข็ดขัดทองให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น คดีฟังได้ว่า ได้ร่วมเอาเข็มขัดทองคืนมา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 และ 3 ไม่ต้องคืนเข็มขัดทองแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันคืนเข็มขัดทองของหมั้นหนัก 20 บาท ให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 116,00บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share