แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 58มีความหมายว่า หากในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นจำเลย มีถิ่นที่อยู่ปกติและในท้องที่ที่จำเลยซึ่งเป็นเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดต่างมีศาลเยาวชนและครอบครัวทั้งสองแห่ง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวศาลใด ศาลหนึ่งได้ ซึ่งก็ได้แก่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอันเป็น ศาลที่จำเลยมีถิ่นที่อยู่ปกติ และศาลจังหวัดปทุมธานีแผนกคดี เยาวชนและครอบครัวอันเป็นศาลที่จำเลยกระทำความผิดฉะนั้น เมื่อคดีนี้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดปทุมธานีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิดของจำเลยอยู่แล้ว จึงมิใช่กรณีที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแห่งท้องที่นอกเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้ดำเนิน การสอบสวน ไม่อาจนำมาตรา 51 วรรคท้ายมาใช้บังคับได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุม โดย ไม่ได้ขอผัดฟ้องหรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 91, 371 ริบอาวุธปืนของกลาง
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตรวจคำฟ้องแล้ว มีคำสั่งไม่รับฟ้อง จำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องฟังได้ว่า คดีนี้เหตุเกิดที่ตำบลประชาธิปัตย์อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ส่วนจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นเยาวชนอายุ 14 ปีเศษหลังเกิดเหตุจำเลยถูกจับและถูกนำส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธร ตำบลประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จังหวัดปทุมธานี ต่อมาจำเลยถูกส่งตัวไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางเมื่อครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุมพนักงานสอบสวนไม่ได้ขอผัดฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัว โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2540ก่อนครบกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุมในวันที่ 11มกราคม 2540 ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุมโดยมิต้องขอผัดฟ้องหรือมิต้องได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 58 บัญญัติว่า “คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดให้ศาลเยาวชนและครอบครัวซึ่งมีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติมีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิดนั้น แต่ถ้า (1) (2) มีศาลเยาวชนและครอบครัวทั้งในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติและในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด เพื่อประโยชน์แก่เด็กหรือเยาวชนให้ศาลแห่งท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดมีอำนาจรับพิจารณาคดีนั้นได้ด้วย” ตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้มีความหมายว่า หากในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นจำเลยมีถิ่นที่อยู่ปกติและในท้องที่ที่จำเลยซึ่งเป็นเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ต่างมีศาลเยาวชนและครอบครัวทั้งสองแห่งเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวศาลใดศาลหนึ่งก็ได้ ซึ่งได้แก่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอันเป็นศาลที่จำเลยมีถิ่นที่อยู่ปกติ และศาลจังหวัดปทุมธานีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวอันเป็นศาลที่จำเลยกระทำความผิดสำหรับกำหนดเวลาฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวนั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าจะต้องยื่นฟ้องให้ทันภายใน 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุมและหากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องให้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าวแล้ว พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณีชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกิน 15 วัน เป็นคราว ๆ ไป ตามมาตรา 51 วรรคสองและวรรคสาม อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 51 วรรคท้าย บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแห่งท้องที่นอกเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน ซึ่งมีความหมายว่า ในกรณีที่ท้องที่ที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัว และคดีนั้นต้องฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวแล้ว พนักงานอัยการมีสิทธิยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้ แม้จะพ้นกำหนด30 วัน นับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุม โดยพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมิต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสามด้วย แต่ถ้าในท้องที่ที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนมีศาลเยาวชนและครอบครัวอยู่ในเขตอำนาจแล้ว แม้จะมีศาลเยาวชนและครอบครัวอื่นที่มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิดนั้นได้ด้วยตามมาตรา 58ก็ตาม กรณีจะนำบทบัญญัติในมาตรา 51 วรรคท้ายมาใช้บังคับหาได้ไม่และหากพนักงานอัยการมีเหตุจำเป็นไม่สามารถฟ้องจำเลยต่อศาลให้ทันภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุมแล้วพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการก็ชอบที่จะยื่นคำร้องขอผัดฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวศาลใดศาลหนึ่งได้ตามมาตรา 51วรรคสองและวรรคสาม คดีนี้ได้ความว่า เหตุเกิดในท้องที่ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธร ตำบลประตูน้ำจุฬาลงกรณ์อำเภอธัญญบุรี จังหวัดปทุมธานี เป็นผู้จับกุมจำเลย ดังนั้นพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจภูธรตำบลประตูน้ำจุฬาลงกรณ์จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสาม เมื่อปรากฏว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดปทุมธานีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวอันเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิดของจำเลยดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วเช่นนี้ จึงมิใช่กรณีที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแห่งท้องที่นอกเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน กรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 51 วรรคท้าย มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยถูกจับกุมโดยมิได้ขอผัดฟ้องหรือมิได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน