แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา 3,000 บาทจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้โต้แย้งสิทธิครอบครองที่พิพาทมาโดยตลอดเป็นการครอบครองเพื่อตน จำเลยย่อมได้สิทธิครอบครองโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกา ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ห้ามโจทก์ผู้ได้สิทธิครอบครองในที่ดินแปลงพิพาทโอนไปยังผู้อื่นภายใน 10 ปี ดังนั้นถึงแม้จะฟังว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ โดยโจทก์สละการครอบครองก็เป็นการซื้อมาและเข้าครอบครองภายในกำหนดเวลาห้ามโอน เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 แม้จะโอนไปเพียงบางส่วนของที่ดินที่ห้ามโอนและมอบการครอบครองแล้ว ทั้งมีข้อตกลงว่าจะจดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนแล้วก็ไม่อาจทำได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 166 หมู่ที่ 2 ตำบลโป่งน้ำร้อน กิ่งอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ 58 ตารางวาเมื่อประมาณปี 2528 จำเลยมาขออาศัยอยู่ในที่ดินบางส่วนของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 1 งาน ขอให้บังคับจำเลยพร้อมทั้งบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินดังกล่าว และใช้ค่าเสียหายเดือนละ200 บาทแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยขอแบ่งซื้อที่ดินจากโจทก์ โจทก์ได้รับชำระราคาที่ดินจำนวน 2,000 บาท จากจำเลยแล้ว จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โดยปลูกบ้านอยู่อาศัยอย่างถาวรและปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ โดยสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี ไม่มีผู้ใดคัดค้านหรือขัดขวาง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่พิพาทพร้อมทั้งใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ100 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่พิพาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา3,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี และจำเลยได้โต้แย้งสิทธิครอบครองที่พิพาทมาโดยตลอดเป็นการครอบครองเพื่อตนเอง จำเลยย่อมได้สิทธิครอบครองโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ห้ามโจทก์ผู้ได้สิทธิครอบครองในที่ดินแปลงพิพาทโอนไปยังผู้อื่นภายใน 10 ปี ดังนั้น ถึงแม้จะฟังว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์โดยโจทก์สละการครอบครองก็เป็นการซื้อมาและเข้าครอบครองภายในกำหนดเวลาห้ามโอน เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 แม้จะโอนไปเพียงบางส่วนของที่ดินที่ห้ามโอนและมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยครอบครองแล้วทั้งมีข้อตกลงว่าจะจดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนแล้วก็ไม่อาจทำได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่พิพาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
พิพากษายืน