แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 ถึง ที่ 4 และจำเลยที่ 1 ต่างลงชื่อในบันทึกข้อตกลงว่าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินแปลงใหญ่ และได้มาจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมออกจากกันเป็นคนละ 1 แปลง แต่ยังไม่ได้จดภารจำยอมทางเดินเข้าออกเนื่องจากยังไม่มีโฉนด ทุกคนทราบว่าทางเดินกว้าง 6 เมตร และจะมาจดภารจำยอมเรื่องทางเดินผ่านเมื่อได้รับโฉนด ที่แบ่งแยกใหม่แล้ว ดังนี้ เมื่อทุกคนต่างได้รับโฉนดที่แบ่งแยกใหม่แล้ว จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลง แม้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะขายที่ดินแปลงของตนให้โจทก์ที่ 5 และที่ 6 และโจทก์ที่ 4 จะยกที่ดินแปลงของตนให้โจทก์ที่ 7 ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงไปแล้วก่อนฟ้อง โจทก์ทั้งเจ็ดโดยอาศัยสิทธิซึ่งกันและกันก็มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตาม ข้อตกลงได้
การที่จำเลยที่ 1 ยกที่ดินแปลงของตนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรของตน และอาศัยอยู่กับตนโดยเสน่หา ทั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ทราบว่า จำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนทางภารจำยอมมาตั้งแต่แรก โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นที่ต้อง รีบโอนให้จำเลยที่ 2 ถึง ที่ 4 ก่อนจดทะเบียนภารจำยอมเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่า ทั้งผู้ยกให้และผู้รับยกให้ต่างทราบดีว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าของที่ดินแปลงข้างในเสียเปรียบ เป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการยกให้ได้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้เพื่อให้ได้มาซึ่งทางภารจำยอมเท่านั้น มิใช่ให้โอนที่ดินพิพาทมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ การบังคับให้เพิกถอนการให้จึงไม่จำเป็นแก่การบังคับเพื่อประโยชน์ของโจทก์ ทั้งโจทก์ก็มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ผู้ยกให้หรือจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 4 ผู้รับการยกให้ที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนภารจำยอมมาด้วย ศาลจึงพิพากษาให้เฉพาะจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 4 ไปจดทะเบียนทางภารจำยอมในที่ดินของตนได้โดยไม่จำต้องเพิกถอนการให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ และจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงใหญ่ร่วมกัน ต่อมาแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันโดยจำเลยที่ ๑ ได้แปลงที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ที่ดินแปลงที่ ๓ ถึงที่ ๕ ตามลำดับ ที่ดินแปลงที่ ๑ ทิศทางสาธารณะที่ดินแปลงอื่นไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ก่อนแบ่งแยกเจ้าของรวมได้ตกลงกันให้จดทะเบียนทางภารจำยอมกว้าง ๖ เมตร ผ่านออกทางสาธารณะได้ทุกแปลงตามแนวเส้นสีเขียวในเอกสารท้ายฟ้อง และกำหนดไปจดทะเบียนเมื่อได้รับโฉนดใหม่แล้ว แต่เมื่อได้รับโฉนดใหม่ที่แบ่งแยกออกจากที่ดินแปลงเดิมแล้ว โจทก์ที่ ๑ โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้โจทก์ที่ ๕ โจทก์ที่ ๒ โอนให้โจทก์ที่ ๖ ส่วนโจทก์ที่ ๔ โอนให้โจทก์ที่ ๗ โดยผู้รับโอนทุกคนยอมผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าว ต่อมาโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ และจำเลยที่ ๑ ไปจดทะเบียนภารจำยอมตามข้อตกลง แต่ไม่อาจกระทำได้เพราะจำเลยที่ ๑ ได้ลงทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หาแล้ว จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ทราบถึงข้อตกลงดังกล่าวแต่ไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการไม่สุจริต ทั้งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเหตุให้โจทก์ทุกคนเสียเปรียบเป็นการฉ้อฉล ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการยกที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ และบังคับให้จำเลยที่ ๑ หรือจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินพิพาทให้เป็นภารยทรัพย์แก่ที่ดินของโจทก์ที่ ๕ ถึงที่ ๗ โดยกำหนดให้ทางภารจำยอมกว้าง ๖ เมตรตามแผนที่ท้ายฟ้อง หากไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยทั้งสี่ส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวต่อศาลภายใน ๗ วันและให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ที่ ๔ ที่ ๖ ที่ ๗ ไปแล้ว และโจทก์ที่ ๕ ถึงที่ ๗ มิใช่คู่สัญญาของจำเลยที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๗ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๑ ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ โดยสุจริตไม่ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอน จำเลยที่ ๑ ไม่เคยตกลงให้แบ่งแยกที่ดินเป็นทางเดินกว่าง ๖ เมตร ตามฟ้อง ไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดทางเดินพิพาทกว้างถึง ๖ เมตร ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ จดทะเบียนภารจำยอมที่ดินพิพาทกว้าง ๑ เมตร จากแนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ยาวตลอดแนวที่ดินให้แก่ที่ดินของโจทก์ที่ ๓ หากไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์ที่ ๓ จดเองได้ โดยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ คำขออื่นและฟ้องของโจทก์ที่ ๓ เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ และโจทก์ที่ ๔ ถึง ที่ ๗
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เปิดทางจำเป็นกว้าง ๑ เมตรตามแนวภารจำยอมให้แก่โจทก์ที่ ๕ ถึงที่ ๗ โดยโจทก์ที่ ๕ ถึงที่ ๗ ไม่ต้องเสียค่าทดแทนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ได้มีการตกลงระหว่างโจทก์ที่ ๑ ถึงโจทก์ที่ ๔ และจำเลยที่ ๑ ให้เปิดทางเดินเป็นภารจำยอมกว้าง ๖ เมตร ตามเอกสารหมาย จ.๙ และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ทราบถึงความตกลงดังกล่าวนี้ด้วย และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ปัญหาว่าโจทก์ทั้งเจ็ดมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่ไปจดทะเบียนทางภารจำยอมให้กว้าง ๖ เมตร ตามฟ้องได้หรือไม่เห็นว่า โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และจำเลยที่ ๑ ต่างได้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.๙ ซึ่งมีข้อความว่า ข้าพเจ้าผู้มีนามดังต่อไปนี้ขอให้ถ้อยคำว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินหมายเลข (ที่ถูกเป็นโฉนดที่) ๒๔๙ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ร่วมกัน วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๔ ได้มาจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมออกจากกันเป็นคนละ ๑ แปลง แต่ยังไม่ได้จดภารจำยอมทางเดินเข้าออก เนื่องจากยังไม่มีโฉนดต้องให้อธิบดีลงนามโฉนดใหม่ ข้าพเจ้าทุกคนทราบทางเดินเข้าออกรวมกว้าง ๖ เมตร จึงขอทำสัญญาไว้กันเองว่า เมื่อได้รับโฉนดแบ่งแยกใหม่เสร็จ ข้าพเจ้าทุกคนจะมาจดภารจำยอมเรื่องทางเดินผ่านกันทุก ๆ แปลง ข้าพเจ้าทุกคนทราบแล้วไม่ขัดข้อง ฯลฯ แสดงว่าโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ กับจำเลยที่ ๑ ทุกคนต่างเป็นคู่สัญญากันว่าจะจดทะเบียนทางภารจำยอมกว้าง ๖ เมตร ผ่านที่ดินของทุกคนเพื่อเป็นทางเข้าออก เมื่อได้รับโฉนดที่แบ่งแยกใหม่แล้ว ดังนี้เมื่อทุกคนต่างได้รับโฉนดที่แบ่งแยกใหม่แล้ว ต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อตกลงไปจดทะเบียนภารจำยอมให้มีทางเดินกว้าง ๖ เมตร ในที่ดินของตนที่ได้รับเพื่อเป็นทางย่านเข้าออกตั้งแต่แปลงที่ ๑ ถึงแปลงที่ ๕ ทุกแปลงแม้โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ จะได้ขายที่แปลงของตนให้โจทก์ที่ ๕ และที่ ๖ และโจทก์ที่ ๔ จะโอนยกที่ดินแปลงที่ ๕ ให้โจทก์ที่ ๗ ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงไปแล้วก่อนฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดโดยอาศัยสิทธิซึ่งกันและกันก็มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติตามข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.๙ ได้ แม้จำเลยที่ ๑ ได้โอนยกที่ดินแปลงของตนให้แก่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ไปแล้วก่อนถูกฟ้อง ก็ได้ความว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เป็นบุตรจำเลยที่ ๑ และยังอาศัยอยู่กับจำเลยที่ ๑ ทั้งได้ทราบถึงการที่จำเลยที่ ๑ ต้องจดทะเบียนทางภารจำยอมดังกล่าวมาแต่แรก พฤติการณ์ที่จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินแปลงที่ ๑ ของตนให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ โดยเสน่หา โดยที่จำเลยที่ ๔ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่ปรากฏเหตุจำเป็นที่ต้องรับโอนให้ก่อนจดทะเบียนทางภารจำยอม โดยจำเลยที่ ๑ จะรอให้จดทะเบียนทางภารจำยอมให้เรียบร้อยที่อื่นจึงจดทะเบียนโอนให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ในภายหลังก็ได้ ศาลฎีกาเชื่อว่า ทั้งจำเลยที่ ๑ ผู้ยกให้และจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ผู้รับยกให้ต่างทราบดีว่าเป็นทางให้โจทก์ที่ ๓ ที่ ๕ ถึงที่ ๗ เจ้าของที่ดินแปลงข้างในเสียเปรียบเป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการยกให้ดังกล่าวนี้ได้ อย่างไรก็ดีศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ทั้งเจ็ดขอให้เพิกถอนการให้ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งทางภารจำยอมเท่านั้น มิใช่เพื่อให้โอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์การบังคับให้เพิกถอนการให้จึงไม่จำเป็นแก่การบังคับเพื่อประโยชน์ของโจทก์ ทั้งโจทก์ก็มีคำขอให้จำเลยที่ ๑หรือจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไปจดทะเบียนทางภารจำยอมมาด้วย จึงเห็นสมควรให้เฉพาะจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไปจดทะเบียนทางภารจำยอมในที่ดินของตนเพื่อให้เป็นทางเข้าออกแก่ที่ดินแปลงที่อยู่ด้านในของโจทก์ที่ ๓ ที่ ๕ ถึงที่ ๗ โดยไม่จำต้องเพิกถอนการให้ ฯลฯ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ จดทะเบียนทางภารจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๙๘๒๒ เลขที่ ๔๒๙๔ แขวงบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครกว้าง ๖ เมตร จากแนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ยาวตลอดแนวที่ดินถ้าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยดังกล่าว ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑