คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2253/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเข้าไปปักเสาและปลูกต้นมะขามในที่ดินของโจทก์ก็เพื่อถือการครอบครองที่ดินของโจทก์ ดังนั้น ความผิดฐานบุกรุกได้เกิดขึ้นและสำเร็จแล้วเมื่อจำเลยเข้าไปกระทำการดังกล่าวส่วนการครอบครองที่ดินต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุก การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังถือการครอบครองที่ดินของโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดระหว่างวันที่ 1 ถึง 10 สิงหาคม 2528เวลาใดไม่ปรากฏชัด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362และ 363 โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดเวลากลางคืน แม้จะมีข้อความตอนหนึ่งว่าขณะนี้จำเลยยังคงบุกรุกอยู่ ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าจำเลยบุกรุกที่ดินตามฟ้องทั้งเวลากลางวันและกลางคืนแต่โจทก์ก็มิได้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3)จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เมื่อความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และ 363 เป็นความผิดอันยอมความกันได้ โจทก์มิได้ร้องทุกข์และได้ฟ้องคดีเองเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96.(วรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2531)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 ถึง 10 สิงหาคม 2528 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้บุกรุกเข้าไปปักเสาและปลูกต้นมะขามในที่ดินของโจทก์โดยมีเจตนาทุจริต เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือเข้าไปกระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขขณะนี้จำเลยก็ยังคงบุกรุกอยู่ โจทก์ทราบการกระทำผิดของจำเลยเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2528ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 363
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว วินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะบุกรุกที่ดินของโจทก์ตลอดเวลา ความผิดเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อจำเลยเริ่มบุกรุกและเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดไปตราบเท่าที่จำเลยยังปักเสาและปลูกต้นมะขามในที่พิพาท คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าที่จำเลยเข้าไปปักเสาและปลูกต้นมะขามในที่ดินของโจทก์ก็เพื่อถือการครอบครองที่ดินของโจทก์ ดังนั้น ความผิดฐานบุกรุกได้เกิดขึ้นและสำเร็จแล้ว เมื่อจำเลยเข้าไปกระทำการดังกล่าว ส่วนการครอบครองที่ดินต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุก การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังถือการครอบครองที่ดินดังที่โจทก์ฎีกา ในปัญหาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชี้ขาดมาหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดระหว่างวันที่ 1 ถึง 10 สิงหาคม 2528 เวลาใดไม่ปรากฏชัด และขณะนี้ซึ่งหมายความว่าขณะยื่นฟ้องจำเลยก็ยังคงบุกรุกอยู่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และ363 โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดเวลากลางคืน แม้จะมีข้อความตอนหนึ่งว่าขณะนี้จำเลยก็ยังคงบุกรุกอยู่ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าจำเลยบุกรุกที่ดินตามฟ้องทั้งเวลากลางวันและกลางคืนแต่โจทก์ก็มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365 (3) ซึ่งเป็นความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืน อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) คงประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 362 และ 363 เท่านั้น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และ 363 ซึ่งมาตรา 366 บัญญัติว่าเป็นความผิดอันยอมกันได้อายุความฟ้องร้องนอกจากจะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา95 แล้ว ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 96 ด้วย กล่าวคือ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นขาดอายุความถ้าผู้เสียหายที่มิได้ร้องทุกข์ไว้จะฟ้องเองก็ต้องฟ้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยมิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โดยบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทราบการกระทำความผิดของจำเลยเมื่อวันที่11 สิงหาคม 2528 และนำสืบว่าโจทก์รู้ว่าจำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์เมื่อเดือนกันยายน 2528 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม2529 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96
พิพากษายืน.

Share