แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 นำรถมารับขนน้ำมันในนามจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างแก่คนขับรถคันนี้เกิดเหตุระหว่างกลับจากบรรทุกส่งน้ำมัน จำเลยที่ 3 ได้ประโยชน์ในการส่งน้ำมันอันเป็นกิจการของจำเลยที่ 3 ถือเป็นนายจ้างรับผิดร่วมกับคนขับรถด้วย สัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ไม่ใช่จ้างทำของนำ มาตรา 428 มาใช้ไม่ได้
จำเลยที่ 3 ฎีกาผู้เดียว ศาลพิพากษาลดค่าเสียหายที่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกันต่อโจทก์ด้วย
ย่อยาว
จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถจากจำเลยที่ 2 นำไปรับจ้างขนส่งน้ำมันในนามของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างแก่คนขับรถ ขากลับจากส่งน้ำมันเกิดเหตุชนรถของโจทก์ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1, ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 93,706 บาทกับดอกเบี้ย ยกฟ้องจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน ล.บ.03498 มาจากนายกิมฮะ ปีนแก้ว ในราคา 35,000 บาทวันเกิดเหตุโจทก์บรรทุกสุกร 26 ตัวนำไปขายที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ มีรถบรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน ล.บ.02634 แล่นสวนทาง กินทางเข้ามาในเส้นทางเดินรถของโจทก์ เป็นเหตุให้รถบรรทุกน้ำมันชนรถโจทก์เสียหายโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสรถบรรทุกน้ำมันเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปจากจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ แล้วจำเลยที่ 1 นำรถคันนี้มารับจ้างขนส่งน้ำมันของบริษัทคาลเท็กซ์ จำกัด ในนามของจำเลยที่ 3 ที่ถังน้ำมันรถมีชื่อบริษัทจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ได้รับผลประโยชน์จากการขนส่งน้ำมันเที่ยวละ 200 บาทเหตุรถชนเกิดขึ้นขณะรถบรรทุกน้ำมันกลับจากส่งน้ำมัน
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วปัญหาเรื่องความรับผิดของจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อปรากฏว่า การที่จำเลยที่ 1 นำรถมารับจ้างขนส่งน้ำมันจะต้องทำในนามของจำเลยที่ 3 ต้องพ่นสีชื่อบริษัทจำเลยที่ 3 ไว้ที่รถ โดยจำเลยที่ 3 มีส่วนได้รับประโยชน์ด้วยเช่นนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้ขับรถบรรทุกน้ำมันจำเลยที่ 3 ก็ได้มีและใช้รถคันนี้ในกิจการของจำเลยที่ 3 แล้ว ต้องถือว่าจำเลยที่ 3เป็นนายจ้างของผู้ขับรถที่ทำละเมิดด้วย สัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 3 จึงไม่เป็นสัญญาจ้างทำของ จำเลยที่ 3 จะยกเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 428 มาเป็นข้อต่อสุ้ให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 3 ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุลูกจ้างขับรถกระทำการในทางการที่จ้างหรือไม่นั้น ปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 3 ฎีกาในเรื่องค่าเสียหายว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าโจทก์จะต้องทุพพลภาพตลอดชีวิต จึงควรได้ค่าเสียหายส่วนนี้อย่างมากไม่เกิน 15,000 บาทศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ต้องเสียความสามารถในการประกอบการงานโดยสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนในอนาคตอย่างไรคงปรากฏตามคำฟ้องและคำเบิกความของตัวโจทก์เองว่า ขาโจทก์ทั้งสองข้างหัก ศีรษะส่วนหน้าผากบุบยุบ สมองได้รับความกระทบกระเทือน โจทก์ต้องรักษาตัวเป็นเวลา 6 เดือน บาดแผลจึงหายสนิท แต่จำอะไรไม่ค่อยได้ คิดไม่ค่อยออก เดินไม่ค่อยถนัด โจทก์ไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลประสาท หมอให้ยาไปกินอีกประมาณ 3 – 4 เดือน อาการก็ยังไม่ดีขึ้น มีอาการปวดศีรษะมึนศีรษะอยู่เรื่อย ๆแต่ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของโจทก์ที่โจทก์อ้างมานั้น บาดแผลโจทก์มีเพียง 2 แห่ง คือบาดแผลที่หน้าผากด้านซ้ายกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 8เซนติเมตร ลึกหนังแตกและข้อเท้าซ้ายหักเท่านั้น แพทย์มีความเห็นว่า บาดแผลกระดูกหักจะหายประมาณ 1 เดือน ถ้าไม่มีโรคแทรก ส่วนที่โจทก์ว่าจะอะไรไม่ค่อยได้ คิดไม่ค่อยออก โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบแพทย์ที่รักษาโจทก์ให้ปรากฏว่าอาการเช่นนี้จะเป็นอยู่ตลอดไปหรืออย่างไร โจทก์จึงควรได้ค่าเสียหายในส่วนนี้เพียง 15,000 บาทตามที่จำเลยที่ 3 ยอมรับในฎีกา ส่วนค่าเช่าซื้อรถ 35,000บาท ที่โจทก์ฎีกาว่าไม่ควรเท่ากับราคาที่ซื้อมานั้น ตามเอกสารหมาย จ.4 โจทก์เพิ่งเช่าซื้อรถมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2516 ก่อนวันเกิดเหตุเพียง 4 วัน และสภาพรถได้รับความเสียหายมาก หากจะซ่อมจะต้องเสียเงินมากกว่าราคาเช่าซื้อรถ จึงไม่มีเหตุที่จะลดค่าเสียหายในส่วนนี้ลง
คดีนี้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยแยกเป็น 5 รายการ คือ ค่าเสียหายเฉพาะสุกรตายและสูญหาย7,500 บาท ค่ารถยนต์เสียหาย 35,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลและค่าจ้างรถยนต์ไปโรงพยาบาล 2,706 บาท ค่าขาดรายได้ 6,000 บาท และค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบการงานในอนาคต 50,000 บาท รวม53,706 บาท (ที่ถูกเป็นเงิน 101,206 บาท) เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรลดเฉพาะค่าเสียหายในการสูญเสียความสามารถลงจาก 50,000 บาท เหลือ 15,000บาท เพียงรายเดียว โดยมิได้แก้ไขจำนวนค่าเสียหายในรายการอื่น ๆ โจทก์จึงควรได้ค่าเสียหายรวม 5 รายการเป็นเงิน 66,206 บาท”
พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 66,206 บาท