คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2246/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามปกติถือว่าปืนเป็นอาวุธร้ายแรง อาจทำให้ถึงตายได้ ปืนที่จำเลยใช้ยิงผู้เสียหายเป็นอาวุธปืนสั้น จะทำขึ้นเองหรือทำมาจากที่ใดไม่ปรากฏ แต่ได้ความว่าเมื่อยิงนัดหนึ่งแล้วต้องใช้มือจับลูกโม่ให้หมุนก่อนที่จะใช้ยิงนัดต่อไป กระสุนปืนที่ถูกผู้เสียหายไม่ได้เข้าตรง ๆ โดยเฉียดสีข้างเป็นบาดแผลกว้าว 1 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร ผู้เสียหายพลัดตกลงไปในคูและลุกขึ้นไม่ได้ แสดงว่าอาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงมีอำนาจประหัตประหารให้ผู้ถูกยิงถึงแก่ความตายได้ ถ้ากระสุนปืนถูกอวัยวะอื่นที่เป็นส่วนสำคัญของร่างกาย กรณีต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 โดยถือว่าจำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2) ประกอบด้วยมาตรา 80 หาใช่มาตรา 81 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๑๐ จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยมีอาวุธปืน ๑ กระบอกพร้อมด้วยกระสุนปืน ๓ นัด ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยกับพวกถูกควบคุมอยู่ในสถานฝึกและอบรมของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง กระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมกันหลบหนีไปจากสถานที่ดังกล่าว จำเลยได้ใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนยิงนายสมาน สมนาม พนักงานควบคุมของสถานฝึกฯ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายโดยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกนายสมานมีบาดแผลตามร่างกายอันมิใช่อวัยวะส่วนสำคัญ นายสมานจึงไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ พ.ศ.๒๔๙๐ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๒), ๘๐, ๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๒) ประกอบด้วยมาตรา ๘๑, ๕๒ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ ๑๘ ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ จำคุกฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่มีกำหนด ๕ ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ๑ เดือน รวมจำคุก ๕ ปี ๑ เดือน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙(๒) ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ ลงโทษเมื่อลดมาตราส่วนโทษแล้วจำคุก ๒๕ ปี รวมจำคุก ๒๕ ปี ๑ เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยในปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยควรปรับด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ หรือมาตรา ๘๑ ว่าตามปกติถือว่าปืนเป็นอาวุธที่ร้ายแรงทำให้ถึงตาย แต่คดีนี้จับอาวุธปืนของกลางไม่ได้ จึงไม่สามารถทราบได้ว่าอาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงจะมีความร้ายแรงเพียงใด คงอาศัยแต่พยานหลักฐานในสำนวนเป็นเครื่องประกอบการวินิจฉัย ซึ่งได้ความว่าปืนที่จำเลยใช้ยิงเป็นอาวุธปืนสั้นจะทำขึ้นเองหรือทำมาจากที่ใดไม่ปรากฏ แต่ได้ความว่ายิงนัดหนึ่งแล้วต้องใช้มือจับลูกโม่ให้หมุนก่อนที่จะยิงนัดต่อไป กระสุนปืนที่ถูกผู้เสียหายไม่ได้เข้าตรง ๆ เฉียดสีข้างเป็นบาดแผลกว้าง ๑ เซนติเมตร ยาว ๒ เซนติเมตร ผู้เสียหายพลัดตกไปในคูและลุกขึ้นไม่ได้ แสดงว่าอาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงอาจทำให้ผู้ถูกยิงถึงแก่ความตายได้ ถ้ากระสุนปืนถูกอวัยวะอื่นที่สำคัญของร่างกาย เพราะว่าขนาดที่กระสุนเฉียด ๆ ร่างกายไปยังก่อให้เกิดบาดแผลดังกล่าว และมีแรงผลักดันให้ผู้ถูกยิงหกล้มได้ อาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงจึงมีอำนาจประหัตประหารให้ผู้ถูกยิงถึงแก่ความตายได้ กรณีต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ โดยถือว่าจำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
เนื่องจากจำเลยกระทำความผิดก่อนที่จะมีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ซึ่งแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๒ ใช้บังคับ จึงต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่ในขณะจำเลยกระทำความผิดเพราะเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด ๒๕ ปี หลังจากลดมาตราส่วนโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ แล้ว จึงเป็นการไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๒
พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙(๒) ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ ๑๘ ปี เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ ให้จำคุกไว้มีกำหนด ๑๐ ปี รวมกับโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่รับอนุญาตเป็นจำคุก ๑๐ ปี ๑ เดือน

Share