แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่นายจ้างทำหนังสือยินยอมจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง 6 เดือน ทั้งที่ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 มิได้ห้ามไว้แต่อย่างใด จึงต้องบังคับไปตามสัญญาดังกล่าว และหาเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอันตกเป็นโมฆะไม่ ข้อตกลงนั้นย่อมผูกพันนายจ้าง (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2629/2527)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน เป็นเงิน ๔๓,๘๐๐ บาท แต่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพียงเก้าสิบวัน ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๒๑,๙๐๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นรายปีมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน สัญญาฉบับสุดท้ายจำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๐ แล้วจำเลยมิได้จ้างโจทก์อีก เพื่อมนุษยธรรมจำเลยได้มอบเงินค่าชดเชยให้โจทก์สามเดือน ทั้งที่ไม่มีสิทธิได้รับ ต่อมาโจทก์กับนายกวีกลับตกลงกันให้โจทก์ได้รับค่าชดเชยหกเดือน เป็นการฝ่าฝืนผิดแผกแตกต่างไปจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานย่อมไม่มีผลใช้บังคับเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยที่ขาด ๒๑,๙๐๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานกลาง
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า แม้จำเลยจะไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เลย (ซึ่งศาลฎีกาก็ยังมิได้ฟังดังนั้น) ก็ตามแต่จำเลยโดยนายกวี ผู้รักษาการแทนอธิการวิทยาลัยจำเลยได้ตกลงจะจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ กรณีจึงต้องบังคับไปตามหนังสือสัญญานั้น จำเลยจะบอกปัดไม่ยอมปฏิบัติตามหนังสือสัญญาที่ตนทำขึ้นหาได้ไม่ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ เป็นเพียงข้อกำหนดบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างในกรณีเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิดและจ่ายไม่น้อยกว่าอัตราตามที่กำหนดไว้ แต่ถ้านายจ้างตกลงจ่ายให้มากกว่าการตกลงเช่นว่านั้นก็หาเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายตกเป็นโมฆะไม่ เพราะประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ดังกล่าวไม่ได้ห้ามไว้ การตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันนายจ้าง และการที่นายจ้างตกลงจะจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างทั้งที่ไม่มีหน้าที่ต้องจ่าย ข้อตกลงนั้นย่อมผูกพันนายจ้างเช่นกัน ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯมิได้ห้ามไว้ประการใด เทียบเคียงได้แก่กรณีที่ลูกจ้างลาออกโดยสมัครใจซึ่งนายจ้างไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยเลย แต่นายจ้างประกาศสัญญาจะจ่ายค่าชดเชยให้ นายจ้างก็ต้องจ่ายตามสัญญานั้น ดังแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๒๙/๒๕๒๗ นางสาววรรณาบำรุงไทย โจทก์ บริษัทสปินนี่เอ.เอฟ.ไอ. (ไทย) จำกัด จำเลย
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่นายกวี ทำหนังสือยินยอมเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของจำเลยโดยมิได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมวิทยาลัยฯ เป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบนั้น จำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ จึงเป็นอุทธรณ์นอกคำให้การนอกประเด็น ไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.