แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดและเรียกค่าเสียหาย 41,283 บาททุนทรัพย์สำหรับโจทก์ที่ 1 ไม่เกินห้าหมื่นบาท ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำละเมิดให้โจทก์ที่ 1 ได้รับชดใช้ค่าเสียหาย 1,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้โจทก์ที่ 1 ได้รับชดใช้ค่าเสียหาย 14,250บาท ดังนี้เป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายมาดังกล่าวสูงเกินไป เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา248 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถประมาทเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายขับรถประมาท แต่จำเลยที่ 3 มิได้อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1มิได้ขับรถประมาท จึงไม่มีประเด็นข้อนี้ในชั้นศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งได้เข้าร่วมกับจำเลยที่ 3 เพื่อดำเนินกิจการรับส่งคนโดยสารไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทด้วยความเร็วสูงตัดหน้ารถยนต์คันที่โจทก์ทั้งสองนั่งแล่นสวนมาเป็นเหตุให้เกิดชนกัน ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บ โจทก์ที่ 2ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 187,189.75 บาทแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 174,130 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุที่รถเกิดชนกันไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า เหตุที่รถเกิดชนกันไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 หากเกิดจากความประมาทของคนขับรถคันที่โจทก์ทั้งสองนั่งมา ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินความจริงค่าเสียหายอย่างสูงไม่เกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 17,615.80 บาทแก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 20 เมษายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ 1ถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 14,250 บาท และ 62,865.80 บาทตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 20 เมษายน2525 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา โจทก์ที่ 2 และในฐานะผู้เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ที่ 1ไม่คัดค้าน ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ถอนฎีกา จำหน่ายฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3เฉพาะค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 ส่วนค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดและเรียกค่าเสียหายมารวมทั้งสิ้น 41,283 บาท ทุนทรัพย์สำหรับโจทก์ที่ 1 ไม่เกินห้าหมื่นบาท ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำละเมิดให้โจทก์ที่ 1 ได้รับชดใช้ค่าเสียหาย 1,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้โจทก์ที่ 1 ได้รับชดใช้ค่าเสียหาย 14,250 บาทดังนี้เป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายมาดังกล่าวสูงเกินไป เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา248 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถโดยประมาทนั้นเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาท จำเลยที 3 มิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถโดยประมาท จึงไม่มีประเด็นข้อนี้ในชั้นศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 3จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนปัญหาค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 มีเพียงใดนั้น…สรุปแล้วโจทก์ที่ 2 มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหาย 29,615.80 บาท กรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 1ที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 29,615.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์