แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 31910 และ 28735 ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ที่มีต่อโจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม (สัญญาประนีประนอมยอมความ) ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาด อ. ประมูลซื้อได้ในราคา 301,000,000 บาท แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้แจ้งเรื่องการยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ เมื่อสำเนาโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีชื่อจำเลยที่ 2 ผู้เดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ อีกทั้งหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ระบุว่า กรรมการคนใดเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 2 ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศขายทอดตลาดไปให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 นอกจากนั้น ณ. กรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ ธ. เข้าร่วมขายทอดตลาด และ จ. กรรมการอีกคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมบังคับคดีผ่านผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงรายว่า จำเลยที่ 1 สามารถหาเงินซื้อที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 คืนจากผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ ย่อมแสดงโดยแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องการยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดแล้ว ถือได้ว่าเป็นการแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดโดยชอบด้วยกฎหมาย การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขายทรัพย์สินในราคาที่ต่ำเกินสมควร เป็นฎีกาในประเด็นร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 289,692,959.59 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.50 ต่อปีของต้นเงิน 194,131,047.74 บาท และอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปีของต้นเงิน 24,846,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัด โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 31910 และ 28735 ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาด ปรากฏว่านางสาวอุดมลักษณ์ เป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 301,000,000 บาท
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ซื้อทรัพย์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิใช่บุคคลคนเดียวกัน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์ที่ยึดคนละส่วนที่แยกจากกันอย่างชัดเจน การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งการยึดทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ การยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อสำเนาโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีชื่อจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งตามหนังสือรับรอง ซึ่งนายทะเบียนออกให้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 และหนังสือรับรองในสำนวนบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งนายทะเบียนออกให้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2548 ในข้อ 2 ระบุว่า กรรมการของจำเลยที่ 1 มี 3 คน คือ จำเลยที่ 2 นางอุณณ์และนายจุมพล ส่วนข้อ 3 ระบุว่า จำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้คือ จำเลยที่ 2 หรือนางอุณณ์หรือนายจุมพล คนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทโดยไม่ได้ระบุว่าบุคคลใดเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และปรากฏว่าขณะที่ เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 31910 และ 28735 ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ของจำเลยที่ 2 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2548 ตามรายงานเจ้าหน้าที่นั้น จำเลยที่ 2 ก็ยังเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ทราบ ถือว่าเป็นการแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบด้วย ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศขายทอดตลาดไปให้แก่จำเลยที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 185/3 ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 โดยในประกาศขายทอดตลาดมีรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 นอกจากนั้น นางอุณณ์กรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ยังมอบอำนาจให้นายธีระ ไปเข้าร่วมในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ตามใบมอบอำนาจลงวันที่ 5 กันยายน 2549 ในสำนวนบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีในส่วนของผู้แทนจำเลย และเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 นายจุมพลกรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ยังได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมบังคับคดีผ่านผู้อำนวยการสำนักบังคับคดีจังหวัดเชียงรายว่า จำเลยที่ 1 สามารถหาเงินซื้อที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 คืนจากผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ ตามหนังสือเรื่องขอทราบยอดชำระหนี้โรงแรมริมกกเชียงราย ลงวันที่ 28 กันยายน 2549 ในสำนวนบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี ย่อมแสดงโดยแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องการยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดแล้ว ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียังได้ปิดประกาศขายทอดตลาด ณ ที่ตั้งทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ด้วย ตามบัญชีส่งประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ ถือได้ว่าเป็นการแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 อ้างมาในฎีกาของจำเลยที่ 1 นั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไปในราคาที่ต่ำเกินสมควรหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทโดยเร่งรีบทำให้ขายได้ราคาต่ำกว่าที่ควรเป็นอย่างมากเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดี การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขายทรัพย์สินในราคาที่ต่ำเกินสมควร เป็นฎีกาในประเด็นร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในประเด็นข้อนี้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้มานั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ