คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 223/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องบริษัทจำเลยที่ 1 ขอให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดี แล้วต่อมาจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 2 ตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ศาลได้พิพากษาตามยอมโดยหาได้ชี้ขาดข้อเท็จจริงว่ามีเหตุที่จะเลิกบริษัทดังฟ้องไม่ ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 5 จึงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1194, 1236 (4) โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 อยู่ด้วย ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีปลดเปลื้องความเสียหายโดยขอให้ศาลแสดงว่าคำพิพากษาตามยอมในคดีนั้นไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ในอันที่จะให้บริษัทจำเลยที่ 1 คงมีอยู่ต่อไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทจำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมาย โจทก์ที่ ๑ ถือหุ้น ๑๐ หุ้น โจทก์ที่ ๒ ถือหุ้น ๙ หุ้น จำเลยที่ ๒, ๓, ๔ เป็นประธานกรรมการและกรรมการของบริษัท ถือหุ้นคนละ ๑ หุ้น จำเลยที่ ๕ ถือหุ้น ๑ หุ้น กิจการของบริษัทคงมีอยู่จนบัดนี้ จำเลยที่ ๒, ๓, ๔ ในฐานะคณะกรรมการมิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหลายประการ ต่อมาจำเลยที่ ๕ ยื่นฟ้องบริษัทจำเลยที่ ๑ต่อศาลแพ่ง ขอให้เลิกบริษัท และขอให้จำเลยที่ ๖, ๗ เป็นผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ ๒ ในฐานะประธานกรรมการยื่นคำให้การปฏิเสธฟ้องว่าบริษัทจำเลยที่ ๑ ไม่เคยหยุดกิจการถึง ๑ ปี และกิจการไม่ขาดทุน แล้วต่อมาจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๕ สมยอมกันประนีประนอมยอมความต่อศาล ยอมเลิกบริษัทจำเลยที่ ๑ แต่ตั้งจำเลยที่ ๖, ๗ เป็นผู้ชำระบัญชี ศาลได้พิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ปรากฏตามคดีแดงที่ ๒๖๙๐/๒๕๐๐ ของศาลแพ่ง หลังจากนั้นจำเลยที่ ๖, ๗ ได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเลิกบริษัทต่อหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง กระทรวงเศรษฐการ แต่นายทะเบียนปฏิเสธการขอจดทะเบียนอ้างว่าศาลมิได้พิพากษาให้บริษัทเลิกจากกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
๑๒๓๗ จำเลยจะปฏิบัติตามยอมความต้องประชุมมติพิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๙๔ โจทก์ทราบเรื่องได้มีหนังสือทักท้วงจำเลยที่ ๖, ๗ ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ ๕, ๗ ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาประนีประนอมยอมความโดยขอให้ศาลสั่งให้บริษัทจำเลยที่ ๑ เลิกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๓๗ ศาลสั่งอนุญาตให้แก้ได้ ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยที่ ๕ สมยอมให้ศาลสั่งเลิกบริษัท ทำให้ผู้ถือหุ้นและโจทก์เสียหาย ทั้งบริษัทจำเลยที่ ๑ ไม่มีเหตุที่จะเลิกตามมาตรา ๑๒๓๗ การเลิกบริษัทต้องดำเนินตามมาตรา ๑๑๙๔ คือ ต้องประชุมมติพิเศษจึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแดงที่ ๒๖๙๐/๒๕๐๐ ของศาลแพ่ง และเพิกถอนการสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ ๑ เสียและให้จำเลยที่ ๖, ๗ พ้นจากหน้าที่ผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ ๑ ด้วย
จำเลยให้การว่า ศาลพิพากษาให้เลิกบริษัทจำเลยที่ ๑ และแต่งตั้งจำเลยที่ ๖, ๗ เป็นผู้ชำระบัญชีชอบแล้ว บริษัทจำเลยที่ ๑ ได้หยุดกิจการมาเกิน ๑ ปี จริง จึงตกลงรับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องในคดีแดงที่ ๒๖๙๐/๒๕๐๐ มานั้น มิใช่เป็นการสมยอม และที่ศาลสั่งอนุญาตให้แก้ข้อความในคำพิพากษาเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ศาลมีอำนาจให้แก้ได้
ระหว่างพิจารณา จำเลยแถลงรับว่าจำเลยที่ ๒ เป็นบิดาจำเลยที่ ๕ จริง โจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานบุคคล คงอ้างแต่พยานเอกสาร
ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความที่ได้กระทำต่อศาลให้เลิกบริษัท ไม่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย พิพากษาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งแดงที่ ๒๖๙๐/๒๕๐๐ เป็นโมฆะเสียเปล่าไม่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ให้ถือว่าบริษัทจำเลยที่ ๑ ยังมีสภาพอยู่ตามเดิม ไม่เลิก หากมีการกระทำใด ๆ ทางทะเบียนเกี่ยวกับการเลิกบริษัทให้เพิกถอน
จำเลยทั้ง ๗ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อศาลพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดถึงที่สุดแล้ว ศาลสั่งเพิกถอนไม่ได้ เว้นแต่เป็นการฉ้อฉลหรือสมยอมกัน เมื่อโจทก์ไม่สืบว่าจำเลยที่ ๕ กับจำเลยที่ ๒ ได้สมยอมกัน สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งแดงที่ ๒๖๙๐/๒๕๐๐ ยังสมบูรณ์อยู่ ส่วนการแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเป็นการแก้ไขตามเหตุที่ฟ้องไว้ มิใช่แก้ไขข้อสาระสำคัญ สัญญายอมความนั้นยังคงสมบูรณ์ตามกฎหมาย พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๕ ฟ้องคดีแพ่งแดงที่ ๒๖๐/๒๕๐๐ ขอให้เลิกบริษัทจำเลยที่ ๑ แล้วจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นประธานกรรมการของบริษัท ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้เลิกบริษัท ศาลพิพากษาตามยอม หากการกระทำของจำเลยเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจะขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมไม่ได้ แต่ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีปลดเปลื้องความเสียหายได้ โดยมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลแสดงว่าคำพิพากษานั้นไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของโจทก์ผู้ถือหุ้นในอันที่จะให้บริษัทจำเลยที่ ๑ คงมีอยู่ต่อไป โจทก์กล่าวอ้างเป็นหลักแห่งข้อหาว่า การตกลงกันเลิกบริษัทต้องประชุมใหญ่มีมติพิเศษให้เลิกบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๙๔, ๑๒๓๖ (๔) ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๕ ตกลงกันเพียง ๒ คนให้เลิกบริษัท จึงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายโดยอาศัยศาลเป็นเครื่องมือ ศาลได้พิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ชี้ขาดข้อเท็จจริงว่ามีเหตุที่จะเลิกบริษัทดังฟ้องไม่ เมื่อการกระทำของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะขอจดทะเบียนเลิกบริษัทอันเป็นการกระทำความเสียหายแก่โจทก์ได้ ปัญหาอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share