แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เกิดในราชอาณาจักรไทย เป็นบุตรของนาย ม. คนสัญชาติญวนกับนาง บ. คนสัญชาติไทย นาย ม. กับนาง บ. ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) กรณีจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 จะต้องปรากฏว่าบิดาของผู้ถูกถอนสัญชาติไทยเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนาย ม.มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จึงนำประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวมาปรับกับกรณีของโจทก์ไม่ได้
การที่บุคคลใดจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่การจดแจ้งว่าบุคคลใดมีสัญชาติไทยนั้น เป็นวิธีการทางทะเบียนที่ทางฝ่ายปกครองจัดทำขึ้นเมื่อโจทก์มีสัญชาติไทยอยู่แล้ว แต่กลับถูกจดแจ้งทางทะเบียนว่ามีสัญชาติอื่น ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิว่าไม่ได้เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตลอดมาฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทุกคนเป็นคนสัญชาติไทยให้จำเลยร่วมกันถอนชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพ
จำเลยให้การว่าโจทก์มิได้สัญชาติไทย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นบุคคลมีสัญชาติไทยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันถอนชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายมิน ตริน คนสัญชาติญวนได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและสมรสกับนางบุญมีแสงจันทร์ คนสัญชาติไทยโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกันคือโจทก์ทั้งเจ็ด โจทก์ทุกคนเกิดในราชอาณาจักรไทย และเกิดก่อนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515ใช้บังคับ เมื่อปี พ.ศ. 2514 เจ้าหน้าที่สำนักกิจการญวนอพยพจังหวัดอุบลราชธานี ได้ใส่ชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านญวนอพยพเลขที่ 162-164 ถนนเขื่อนธานี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนต่างด้าว สัญชาติญวนมิใช่สัญชาติไทยดังที่โจทก์ฟ้อง
ปัญหาตามประเด็นข้อแรกที่ว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 เป็นกฎหมายพิเศษมีเจตนารมณ์มุ่งหมายเพื่อป้องกันรักษาความมั่นคงของประเทศ มิได้ประสงค์ที่จะให้บุคคลตามประกาศดังกล่าวมีสัญชาติไทยอีกต่อไป ดังนั้นคำว่า ‘บิดา’จึงต้องเป็นบิดาตามความเป็นจริงโดยไม่คำนึงว่าบิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ เมื่อนายมิน ตริน บิดาของโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนญวนอพยพสัญชาติญวนและเกิดนอกราชอาณาจักรได้หลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายคนเข้าเมือง โจทก์ทั้งเจ็ดก็ต้องถูกเพิกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเกิดในราชอาณาจักรไทย เป็นบุตรของนายมิน ตริน คนสัญชาติญวน กับนางบุญมี แสงจันทร์ คนสัญชาติไทย นายมิน ตรินกับนางบุญมี แสงจันทร์ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสโจทก์ทั้งเจ็ดย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508มาตรา 7 (3) ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเนื่องจากบิดาโจทก์เป็นคนญวนอพยพ มีสัญชาติญวนโจทก์ทั้งเจ็ดจึงต้องถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษบัญญัติยกเว้นพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปนั้น เห็นว่า กรณีที่จะถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่จำเลยอ้างนั้นจะต้องปรากฏว่าบิดาของผู้ถูกถอนสัญชาติไทยเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายมิน ตริน มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งเจ็ดเสียแล้ว จึงนำประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337มาปรับกับกรณีของโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้ โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้มีสัญชาติไทย
ส่วนปัญหาตามประเด็นข้อสุดท้ายที่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีของโจทก์ทั้งเจ็ดขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะโจทก์ทั้งเจ็ดนำคดีมาฟ้องเมื่อล่วงเลยเวลากว่า 10 ปีแล้ว เห็นว่าการที่บุคคลใดจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแต่การจดแจ้งว่าบุคคลใดมีสัญชาติไทยนั้น เป็นวิธีการทางทะเบียนที่ทางฝ่ายปกครองจัดทำขึ้นเมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดมีสัญชาติไทยอยู่แล้ว แต่กลับถูกจดแจ้งทางทะเบียนว่ามีสัญชาติอื่นถือได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดถูกโต้แย้งสิทธิว่าไม่ได้เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตลอดมา ฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน.