แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เงินในตู้บริจาคของศาลเจ้าและเงินของผู้ดูแลศาลเจ้าแม้จะเก็บรักษาไว้ในศาลเจ้า ก็มิใช่วัตถุในทางศาสนา การที่จำเลยกับพวกปล้นทรัพย์ดังกล่าวจึงมิได้กระทำต่อทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 ทวิ วรรคแรก และไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรา 335 ทวิวรรคสอง ได้ ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 340 ทวิ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,340, 340 ทวิ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ทวิให้ประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าในวันเวลาเกิดเหตุ คนร้ายได้เข้าไปในศาลเจ้าแป๊ะกงซำไซส่วย แล้วร่วมกันปล้นเอาเงินของผู้ตายและเงินในตู้บริจาคไปจริงตามฟ้องในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้คนร้ายตีผู้ตาย ใช้ผ้าขาวม้าของกลางมัดแขนและใช้กางเกงของกลางรัดคอผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายมีปัญหาจะต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ ในการพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความว่าเห็นจำเลยกระทำการดังที่โจทก์ฟ้อง คงมีแต่คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยและพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวน อาจใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้หากมีพยานหลักฐานประกอบให้ฟังได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพโดยสมัครใจและตามความสัตย์จริง ในปัญหาว่าจำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนโดยสมัครใจและตามความสัตย์จริงหรือไม่นั้น ปรากฏว่าในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งที่ให้การในครั้งแรกและให้การเพิ่มเติมมีความยาวกว่า 5 หน้ากระดาษพิมพ์ มีรายละเอียดตั้งแต่จำเลยได้พบพวกของจำเลยอีก 2 คน โดยระบุชื่อพวกของจำเลยด้วย เมื่อพบพวกของจำเลย 2 คนดังกล่าวแล้ว จำเลยกับพวกได้ไปที่ไหนบ้างและปรึกษาเรื่องที่จะหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการเที่ยว แล้วตกลงกันว่าจะปล้นทรัพย์ที่ศาลเจ้าที่เกิดเหตุ เพราะเห็นว่ามีคนแก่เฝ้าศาลเจ้าอยู่คนเดียวพฤติการณ์ของจำเลยกับพวกขณะปล้นทรัพย์การแบ่งเงินที่ปล้นมาได้สถานที่แบ่งเงินตลอดจนเหตุการณ์และสถานที่ที่จำเลยถูกจับในวันรุ่งขึ้นจากคืนเกิดเหตุเพราะนำเงินส่วนแบ่งไปเที่ยวและดื่มสุราจนเมาอาละวาดในร้านอาหาร เจ้าของร้านอาหารแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจมาระงับเหตุเป็นต้น ได้พิเคราะห์รายละเอียดในคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยประกอบกับการที่จำเลยนำชี้สถานที่เกิดเหตุ และนำพนักงานสอบสวนไปค้นที่กองขยะจนพบไม้ท่อนของกลางที่จำเลยระบุไว้ในคำให้การว่าเป็นไม้ที่ใช้ตีผู้ตายกับพบกรอบตู้บริจาคและเศษกระจกของกลางซึ่งเป็นของศาลเจ้าที่เกิดเหตุ ซึ่งก่อนจำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนไม่มีผู้ใดทราบว่าคนร้ายใช้วัตถุใดตีผู้ตายและเอาตู้บริจาคไปทิ้งไว้ที่ใดตลอดจนเหตุผลที่ว่าแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพผู้ตายสันนิษฐานตามหลักวิชาว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อเวลาประมาณ 22 นาฬิกาซึ่งใกล้เคียงกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อเวลาประมาณ 20 นาฬิกาเศษแล้ว เชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนโดยสมัครใจและตามความสัตย์จริง ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจใช้กระบองไฟฟ้าทำร้ายและขู่ว่าจะฆ่าจำเลยนั้นไม่น่าเชื่อเพราะนอกจากข้อนำสืบข้อนี้จะมีแต่ตัวจำเลยมาเบิกความลอย ๆ แล้วนายนิวัตรหรือนิวัฒน์ สุระประเสริฐ ที่จำเลยให้การชั้นสอบสวนว่าร่วมกับจำเลยปล้นทรัพย์รายนี้ ได้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมมาดำเนินคดีด้วยแต่นายนิวัตรให้การปฏิเสธ ก็ไม่ปรากฏว่าถูกเจ้าพนักงานตำรวจบังคับหรือขู่ให้รับสารภาพแต่อย่างไรพนักงานสอบสวนกลับสั่งไม่ฟ้องนายนิวัตรเพราะเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง ดังนั้นคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยจึงใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้ คดียังฟังได้ตามคำเบิกความของร้อยตำรวจโทสมชายว่า เมื่อจำเลยถูกจับกุมมาควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจเพราะเมาสุราอาละวาดแล้ว จำเลยพูดออกมาคำหนึ่งว่า”ตีแค่นี้ไม่น่าตาย” ร้อยตำรวจโทสมชายจึงเข้าไปถามจำเลยถึงเรื่องคนแก่ที่ถูกตีตายในศาลเจ้าที่เกิดเหตุ จำเลยจึงบอกว่าจำเลยกับพวกอีก 2 คน ร่วมกันเข้าไปปล้นทรัพย์ผู้ตาย และตีผู้ตายจนถึงแก่ความตาย เรื่องที่จำเลยเล่าให้ร้อยตำรวจโทสมชายฟังนี้มิใช่ส่วนหนึ่งของคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยแต่เป็นพยานหลักฐานอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เพราะขณะนั้นจำเลยยังมิได้ตกเป็นผู้ต้องหาและร้อยตำรวจโทสมชายผู้ซักถามจำเลยก็มิได้กระทำในฐานะพนักงานสอบสวน ในปัญหาว่าคำบอกเล่าของจำเลยใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้หรือไม่ นั้น แม้ขณะนั้นยังไม่ได้ความชัดว่าจำเลยสร้างจากการเมาสุราแล้วหรือยัง แต่ปรากฏว่าจำเลยมีสัมปชัญญะดี พูดจารู้เรื่อง เข้าใจคำถามของร้อยตำรวจโทสมชายผู้รับคำบอกเล่าได้ดี ขณะนั้นยังไม่มีผู้ใดทราบว่าคนร้ายรายนี้เป็นใครบ้างเมื่อจำเลยพูดเรื่องนี้ขึ้นมาก่อนจนเป็นเหตุให้ร้อยตำรวจโทสมชายเข้าไปถาม จึงเชื่อว่าจำเลยบอกเล่าโดยความสมัครใจเพราะสำนึกผิด คำบอกเล่าดังกล่าวจึงใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้เพราะเป็นคำบอกเล่าที่เกิดจากความสมัครใจและข้อความที่บอกเล่าเป็นปรปักษ์ต่อจำเลยเอง นอกจากนี้พนักงานสอบสวนยังยึดไม้ท่อน ผ้าขาวม้า และกางเกงที่ฟังได้ว่าเป็นสิ่งของที่จำเลยกับพวกใช้เป็นเครื่องมือฆ่าผู้ตาย และกรอบตู้บริจาคกับเศษกระจกของศาลเจ้าที่เกิดเหตุที่ฟังได้ว่าจำเลยกับพวกใช้ไม้ท่อนดังกล่าวทุบตู้บริจาคแล้วเอาเงินมาแบ่งกันมาเป็นของกลางประกอบคดี โดยไม้ท่อน กรอบตู้บริจาคกับเศษกระจกเป็นของกลางที่จำเลยนำพนักงานสอบสวนไปค้นหาจากกองขยะใกล้ศาลเจ้าที่เกิดเหตุศาลฎีกาเห็นว่าคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ฟังได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพโดยความสมัครใจและตามความสัตย์จริงคำบอกเล่าของจำเลยต่อบุคคลอื่นที่บอกว่าตนเป็นคนร้ายรายนี้ กับพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีดังกล่าวประกอบกันแล้วรับฟังลงโทษจำเลยได้ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 ทวิ ด้วยนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะความผิดตามมาตรา 340 ทวิวรรคแรกจะต้องเป็นการกระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรกและความผิดตามมาตรา 340 ทวิ วรรคสอง เป็นกรณีปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ วรรคแรกถ้าการปล้นทรัพย์นั้นเป็นการกระทำในสถานที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 335 ทวิ วรรคสองด้วย ส่วนความผิดตามมาตรา 340 ทวิ วรรคอื่นเป็นเหตุฉกรรจ์ของความผิดตามวรรคแรกกับวรรคสองที่กฎหมายกำหนดโทษผู้กระทำความผิดไว้สูงขึ้นไป มาตรา 335 ทวิ วรรคแรก เป็นกรณีลักทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูปหรือวัตถุในทางศาสนา ถ้าทรัพย์นั้นเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน หรือเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธรูปหรือวัตถุดังกล่าว ส่วนความผิดตามมาตรา335 ทวิ วรรคสองเป็นกรณีกระทำความผิดตามมาตรา 335 ทวิวรรคแรกถ้าการกระทำนั้นได้กระทำในวัด สำนักสงฆ์ สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนา โบราณสถานอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสถานที่ราชการหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศาลฎีกาเห็นว่าเงินในตู้บริจาคของศาลเจ้าและเงินของผู้ดูแลศาลเจ้า แม้จะเก็บรักษาไว้ในศาลเจ้าก็มิใช่วัตถุในทางศาสนา การปล้นทรัพย์รายนี้จึงมิได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรก เมื่อมิได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรกแล้วจึงไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรา 335 ทวิ วรรคสองได้ ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 340 ทวิ ไม่ว่าจะเป็นวรรคใดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 2,100 บาทแก่ผู้เสียหายนั้นปรากฏว่าเงินจำนวนนี้อยู่ในตู้บริจาคของศาลเจ้าแป๊ะกงซำไซส่วย 100 บาท ส่วนอีก 2,000 บาทเป็นของผู้ตายศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้ให้ชัดเจน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคท้าย ให้ประหารชีวิต คำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามาก นับเป็นเหตุบรรเทาโทษได้พิเคราะห์ถึงความรู้สึกความผิดของจำเลยและรูปคดีแล้ว ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งวางโทษในเกณฑ์ต่ำของมาตรา 52(2) ให้จำคุกจำเลย 25 ปีให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 2,000 บาท แก่ทายาทของผู้ตาย ส่วนอีก100 บาท คืนให้แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์