คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2225/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนโจทก์จำเลยทำสัญญากันได้มีการโต้เถียงกันแล้วโจทก์เดินขึ้นไปบนบ้านของโจทก์เมื่อโจทก์กลับลงมากระเป๋ากางเกงของโจทก์มีสิ่งของซึ่งไม่ทราบว่าเป็นอะไรตุงอยู่เท่านั้นโดยโจทก์ไม่ได้กระทำการอย่างใดอันเป็นการข่มขู่ให้จำเลยทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายยิ่งกว่านั้นในวันที่กำหนดจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์จำเลยไปรอโจทก์ที่สำนักงานที่ดินตามนัดแต่ไม่พบโจทก์เพราะเป็นวันหยุดราชการเช่นนี้ฟังได้ว่าจำเลยมิได้ถูกโจทก์ข่มขู่ให้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายสัญญาดังกล่าวจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆียะ สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทข้อ2ระบุว่า”ในการจะซื้อขายนี้ผู้จะซื้อได้วางมัดจำให้ผู้จะขายไว้แล้วเป็นเงิน389,000บาทผู้จะขายได้รับเงินมัดจำไว้ถูกต้องแล้ว”จำเลยจึงไม่อาจนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขจำนวนดังกล่าวและจำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายไม่ได้รับเงินมัดจำนั้นเพราะเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94วรรคหนึ่ง(ข)ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าโจทก์ผู้จะซื้อได้วางมัดจำเงินจำนวน389,000บาทและจำเลยผู้จะขายได้รับเงินมัดจำนั้นไว้แล้ว แม้วันที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการไม่อาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันได้ก็ตามแต่กรณีดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีที่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/8ที่บัญญัติให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาในกรณีที่วันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยต้องไปโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการอีกด้วยดังนั้นการที่จำเลยไม่ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ต่อไปเมื่อต่อมาจำเลยมีหนังสือบอกล้างสัญญาดังกล่าวไปยังโจทก์ซึ่งแสดงว่าจำเลยไม่ยอมโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 6692ตำบลชายนา อำเภอเสนา (เสนากลาง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา(กรุงเก่า) เนื้อที่ 23 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา โดยส่วนของจำเลยเนื้อที่ 10 ไร่ ได้จำนองไว้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2535 จำเลยทำหนังสือสัญญาจะขายที่ดินส่วนของจำเลยจำนวน 10 ไร่ ให้แก่โจทก์ในราคา 500,000 บาท โดยได้รับเงินมัดจำไปจากโจทก์เป็นจำนวน389,000 บาท ตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ในวันที่1 พฤษภาคม 2536 หากผิดสัญญายอมให้โจทก์บังคับให้เป็นไปตามสัญญาและยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นจำนวนเงิน 778,000 บาท ต่อมาเมื่อครบกำหนด จำเลยผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา ทำให้โจทก์เสียหายซึ่งโจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6692 ตำบลชายนา อำเภอเสนา (เสนากลาง)จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) ส่วนของจำเลยจำนวนเนื้อที่10 ไร่ ซึ่งจำนองไว้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในราคา 500,000 บาท โดยหักเงินมัดจำจำนวน 389,000 บาท และให้จำเลยเป็นฝ่ายเสียค่าธรรมเนียมการโอนขายที่ดินทั้งสิ้นหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยโดยให้โจทก์ไถ่ถอนที่ดินและหักโอนที่ดินเองกับให้จำเลยให้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อขายตามฟ้องเพราะถูกโจทก์ข่มขู่โดยโจทก์ให้จำเลยไปพบที่บ้านของโจทก์เพื่อตกลงหักกลบลบหนี้ที่จำเลยกู้เงินไปจากโจทก์และหนี้ที่จำเลยซื้อสิ่งของไปจากโจทก์กับหนี้ที่จำเลยขายข้าวเปลือกให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ข่มขู่ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 389,000 บาท ให้แก่โจทก์ทันทีโดยอ้างว่าจำเลยเป็นหนี้จำนวนดังกล่าว หากไม่ชำระเงินจำนวนนั้นให้แก่โจทก์ จำเลยต้องลงลายมือในสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวโดยให้ระบุในสัญญาว่าจำเลยได้รับเงินมัดจำตามจำนวนเงินนั้นแล้ว จำเลยโต้เถียงขอให้โจทก์คิดหักกลบลบหนี้กันก่อน โจทก์ไม่ยอมและเดินขึ้นไปบนบ้านแล้วกลับลงมาพร้อมมีปืนติดอยู่ในกระเป๋ากางเกง จำเลยกลัวเป็นอันตรายต่อชีวิตจึงลงลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อขายตามฟ้องที่โจทก์จัดทำเตรียมไว้แล้ว จำเลยไม่ได้รับเงินมัดจำจำนวน 389,000 บาท จากโจทก์แต่อย่างใด จำเลยได้มีหนังสือตามสำเนาหนังสือเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 บอกล้างสัญญาดังกล่าวแล้ว สัญญาจะซื้อขายตามฟ้องจึงเป็นโมฆะมาแต่แรก โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6692 ตำบลชายนา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเฉพาะส่วนของจำเลยจำนวนเนื้อที่ 10 ไร่ ราคา 500,000 บาท ให้แก่โจทก์โดยหักเงินมัดจำจำนวน 389,000 บาท ออกจากราคาที่ดินค่าธรรมเนียมในการโอนจำเลยเป็นผู้ชำระตามสัญญาและให้โจทก์ชำระราคาค่าที่ดินที่เหลือเมื่อหักเงินมัดจำแล้วให้แก่จำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา และให้จำเลยใช้เบี้ยปรับแก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท อีกด้วย
จำเลย อุทธรณ์ โดย ได้รับ อนุญาต ให้ อุทธรณ์ อย่าง คนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา โดย ได้รับ อนุญาต ให้ ฎีกา อย่าง คนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6692ตำบลชายนา อำเภอเสนา (เสนากลาง) จึงหวัดพระนครศรีอยุธยา(กรุงเก่า) ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยเนื้อที่ 10 ไร่ ให้แก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งมีข้อความระบุว่าในการจะซื้อขายนั้นผู้จะซื้อได้วางมัดจำให้ผู้จะขายนั้นผู้จะซื้อได้วางมัดจำให้ผู้จะขายไว้แล้วเป็นเงิน 389,000 บาท และผู้จะขายจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสาขาเสนา ให้แก่ผู้จะซื้อในวันที่ 1 พฤษภาคม 2536
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อแรกว่าจำเลยถูกโจทก์ข่มขู่ให้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.2สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะหรือไม่ ในปัญหานี้ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้ว เห็นว่า ที่จำเลยเบิกความว่าเกิดการโต้เถียงกันขึ้น โจทก์ขึ้นไปบนบ้าน เมื่อกลับลงมากระเป๋ากางเกงของโจทก์มีสิ่งของไม่ทราบว่าเป็นอะไรตุงอยู่ โจทก์ไปตามชายซึ่งอยู่ข้างบ้านให้มาบ้านโจทก์ โจทก์บังคับให้จำเลยทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 จำนวนกลัวเพราะอยู่บ้านโจทก์จึงลงชื่อในสัญญาเพราะกลัวอันตรายนั้น ไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้บังคับจำเลยด้วยวิธีการอย่างใดและที่นางสาวประคองเบิกความว่า หลังจากที่โจทก์เดินขึ้นไปบนบ้านแล้วกลับลงมาโดยกระเป๋ากางเกงของโจทก์มีสิ่งของไม่ทราบว่าเป็นสิ่งใดตุง ๆ อยู่ โจทก์ข่มขู่พยาน นายลือและจำเลย และเอาหนังสือสัญญาอะไรไม่ทราบมาให้นายลือและจำเลยลงชื่อนั้นนางสาวประคองก็มีได้เบิกความเลยว่าโจทก์ได้พูดหรือกระทำการข่มขู่นางสาวประคอง นายลือ และจำเลยอย่างใด ทั้งนายลือยังกลับเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ไม่ทราบว่าสิ่งของในกระเป๋ากางเกงของโจทก์เป็นอาวุธหรือไม่ แต่โจทก์ไม่ได้พูดข่มขู่ว่าจะฆ่าหรือทำร้ายนายลือและจำเลยอีกด้วย พยานหลักฐานของจำเลยดังกล่าวจึงมีน้ำหนักให้ฟังได้เพียงว่า ก่อนโจทก์จำเลยทำสัญญากัน ได้มีการโต้เถียงกัน แล้วโจทก์เดินขึ้นไปบนบ้านของโจทก์ เมื่อโจทก์กลับลงมากระเป๋ากางเกงของโจทก์มีสิ่งของไม่ทราบว่าเป็นอะไรตุงอยู่เท่านั้นโดยฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้กระทำการอย่างใดอันเป็นการข่มขู่ให้จำเลยทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 ยิ่งกว่านั้นที่ได้ความจากจำเลยและนายลือว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2536 ซึ่งเป็นวันกำหนดจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ จำเลยและนายลือไปรอโจทก์ที่สำนักงานที่ดิน ตามนัดแต่ไม่พบโจทก์เพราะเป็นวันหยุดราชการนั้นก็ทำให้น่าเชื่อยิ่งขึ้นว่าจำเลยทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมายจ.2 โดยไม่ได้ถูกโจทก์ข่มขู่ เพราะหากจำเลยถูกโจทก์ข่มขู่ให้ทำสัญญานั้นแล้ว จำเลยก็ไม่น่าจะยอมไปสำนักงานที่ดินในวันกำหนดนัดจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญานั้นแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยฟังได้ว่าจำเลยมิได้ถูกโจทก์ข่มขู่ให้ทำหนังสือซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 สัญญาดังกล่าวจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆียะ
ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้วางมัดจำเงินจำนวน 389,000 บาทจำเลยไม่ได้รับเงินมัดจำดังกล่าวตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 นั้นเห็นว่า โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามหนังสือซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 และปรากฎว่าข้อ 2 ของสัญญาดังกล่าวระบุว่า “ในการจะซื้อขายนี้ ผู้จะซื้อได้วางมัดจำให้ผู้จะขายไว้แล้วเป็นเงิน 389,000 บาทผู้จะขายได้รับเงินมัดจำไว้ถูกต้องแล้ว” จำเลยจึงไม่อาจนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.2นั้นว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อไม่ได้วางมัดจำเงินจำนวนดังกล่าวและจำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายไม่ได้รับเงินมัดจำนั้น อันเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข)ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าโจทก์ผู้จะซื้อได้วางมัดจำเงินจำนวน389,000 บาท และจำเลยผู้จะขายได้รับเงินมัดจำนั้นไว้แล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่เห็นว่าที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อปรากฎว่าวันที่ 1 พฤษภาคม 2536ซึ่งเป็นวันที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงกำหนดนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ณ สำนักงานที่ดินตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมายจ.2 เป็นวันเสาร์ซึ่งตรงกับวันหยุดราชการ โจทก์ได้นัดให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่ 30 เมษายน2536 แต่จำเลยไม่ไป แล้วโจทก์ได้นัดให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ใหม่ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2536ซึ่งเป็นวันเริ่มทำงานใหม่ต่อจากวันหยุดราชการ แต่จำเลยไม่ได้ไปนั้นโจทก์คงมีแต่ตัวโจทก์เบิกความเป็นพยานเช่นนั้นเพียงปากเดียว แต่จำเลยและนายลือเบิกความยืนยันว่าโจทก์มิได้ขอเปลี่ยนแปลงวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นวันอื่น พยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งมีแต่เพียงคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักพอให้ฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยได้ตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2536 ที่ตกลงกันไว้ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 เป็นวันที่ 30 เมษายน 2536 หรือ 3 พฤษภาคม 2536ซึ่งเป็นวันที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันเป็นวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการไม่อาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันได้ในวันที่ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีที่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/8 ที่บัญญัติให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ในกรณีที่วันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยต้องไปโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2536อีกด้วย การที่จำเลยไม่ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่ 30 เมษายน 2536 หรือวันที่ 3 พฤษภาคม 2536 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่อย่างไรก็ตามจำเลยก็ยังคงมีความผูกพันตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.2ที่จะต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ต่อไป เมื่อได้ความจากทางนำสืบของจำเลยเองว่า ต่อมาจำเลยมีหนังสือเอกสารหมาย ล.1 บอกล้างสัญญาดังกล่าวไปยังโจทก์ ซึ่งแสดงว่าจำเลยไม่ยอมโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้และเมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามสัญญา 50,000 บาท นั้นศาลฎีกาได้พิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า เบี้ยปรับดังกล่าวยังสูงเกินส่วน และเห็นควรกำหนดให้จำเลยรับผิดใช้เบี้ยปรับให้แก่โจทก์ 20,000 บาทพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เบี้ยปรับให้แก่โจทก์ 20,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share