แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยรับว่าได้เช่าอาคารพิพาทจากโจทก์แล้ว จำเลยจะกลับมาเถียงสิทธิของโจทก์ผู้ให้เช่าว่าไม่มีอำนาจให้เช่าและไม่มีอำนาจฟ้องไม่ได้ จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่า เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด จำเลยก็ต้องออกไปจากอาคารพิพาท โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากอาคารที่เช่า จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่า จำเลยทำสัญญาเช่าโดยถูกโจทก์หลอกลวงเท่านั้น จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นิติกรรมจึงเป็นโมฆะ ที่จำเลยฎีกาประเด็นดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากอาคารพิพาทซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องให้เช่าได้เดือนละ 150 บาท และเรียกค่าตอบแทน 214,000 บาท กำหนดเวลาเช่า 10 ปี เมื่อโจทก์ฟ้องขับไล่กับเรียกค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยมาด้วยกัน ดังนี้ ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่จำเลย เมื่อคิดเฉลี่ยค่าเช่าแล้วไม่เกินเดือนละ 2,000บาท ที่จำเลยอุทธรณ์เรื่องค่าเสียหายว่ามีเพียงใด เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือว่ามิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ตกลงให้จำเลยเช่าอาคารเลขที่ 379กำหนดเวลา 1 ปี ครบกำหนด โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าอีกต่อไป จึงได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่า แต่จำเลยกับบริวารไม่ยอมออกไปจากอาคารที่เช่า จึงขอให้บังคับจำเลยกับบริวารขนย้ายออกไปจากอาคารที่เช่าและส่งมอบการครอบครองอาคารที่เช่าคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ครบกำหนดการเช่าถึงวันฟ้องในอัตราวันละ 5,000 บาทตามสัญญาแต่โจทก์ขอคิดในอัตราวันละ 1,000 บาท เป็นเงิน 347,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องเป็นเงินวันละ 1,000บาท จนกว่าจำเลยกับบริวารจะขนย้ายออกไปและส่งมอบการครอบครองอาคารเช่าคืนแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินและอาคารที่พิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตแสดงตนเป็นเจ้าของที่ดินและอาคารพิพาทหลอกลวงให้จำเลยส่งทรัพย์สินให้ โดยอ้างว่าเพื่อการศึกษาและให้เซ็นชื่อในสัญญาเช่าทั้งที่โจทก์ทราบอยู่ก่อนแล้วว่าที่ดินและอาคารพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ สำหรับค่าปรับวันละ 5,000 บาทนั้น ขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504 และกำหนดไว้สูงเกินกว่าเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยกับบริวารออกไปจากอาคารพิพาทเลขที่ 379 และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 34,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยกับให้ใช้ค่าเสียหายอีกวันละ 100 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปและส่งมอบการครอบครองอาคารพิพาทให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาจำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ ข้อนี้จำเลยยอมรับว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าอาคารเลขที่ 379 กับโจทก์ ระยะเวลาเช่า 10 ปี วันเริ่มเช่า 7 มกราคม 2517 วันสิ้นสุด 6 มกราคม 2527 อัตราค่าเช่าเดือนละ 150 บาท ค่าบำรุงมหาวิทยาลัย 80,000 บาท เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดจำเลยได้ต่อสัญญาเช่าอีก 1 ปี โดยเสียเงินค่าตอบแทน18,800 บาท ค่าเช่าเดือนละ 150 บาท ต่อมาสัญญาเช่าครบกำหนดโจทก์ให้จำเลยไปทำสัญญาเช่าต่ออีกมีกำหนด 10 ปี โดยเรียกค่าตอบแทน214,000 บาท ค่าเช่าเดือนละ 150 บาท จำเลยเห็นว่า โจทก์เรียกค่าตอบแทนสูงไป ประกอบกับที่ดินที่ตั้งอาคารพิพาทเป็นของกรมธนารักษ์ จำเลยจึงมิได้ไปทำสัญญาเช่ากับโจทก์ เห็นว่า เมื่อจำเลยรับว่าได้เช่าอาคารพิพาทจากโจทก์ จำเลยจะกลับมาเถียงสิทธิของโจทก์ผู้ให้เช่าว่าไม่มีอำนาจให้เช่าและไม่มีอำนาจฟ้องนั้นฟังไม่ขึ้น จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยครบกำหนดแล้วจำเลยจึงต้องออกไปจากอาคารพิพาท
สำหรับฎีกาข้อสองที่จำเลยฎีกาโต้เถียงว่าจำเลยเข้าใจผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นิติกรรมจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 นั้น เห็นว่าจำเลยให้การต่อสู้คดีเพียงว่า จำเลยทำสัญญาเช่าโดยถูกโจทก์หลอกลวง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมหรือไม่ ฎีกาจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่าค่าเสียหายมีเพียงใด เห็นว่าแม้คดีนี้โจทก์จะฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอาคารพิพาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 347,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องเป็นเงินวันละ 1,000 บาท จนกว่าจำเลยกับบริวารจะขนย้ายออกไปและส่งมอบการครอบครองอาคารพิพาทคืนแก่โจทก์ก็ตามแต่โจทก์มิได้เรียกร้องค่าเสียหายนี้มาอย่างเอกเทศในข้อหาอื่นคงเรียกมาเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอาคารพิพาทเท่านั้น เมื่อได้ความว่าในขณะยื่นคำฟ้องโจทก์จะให้เช่าอาคารพิพาทเดือนละ 150 บาท โดยเรียกค่าตอบแทน 214,000 บาท ในการให้เช่ามีกำหนด 10 ปี ด้วยก็ตาม แต่เมื่อเฉลี่ยแล้วค่าเช่าก็ยังไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224การที่จำเลยยกปัญหาข้อนี้ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบต้องถือว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.