คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2224-2225/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีอาญาโจทก์และจำเลยจะขอให้ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาตามยอมหาได้ไม่
คดีทั้งสองสำนวนเป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองสำนวนถอนฟ้องได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และมีผลให้คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองระงับไปด้วยในตัว

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ ๒ ในสำนวนแรกและจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ ๒
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ ป.อ. มาตรา ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ ป.อ. มาตรา ๘๓ การกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ สำนวนแรกลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ จำนวน ๓๕,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๖ เดือน สำนวนที่สอง ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๘ เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๑๔ เดือน หากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าปรับให้ จัดการตาม ป.อ. มาตรา ๒๙
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ สำนวนแรกมีกำหนด ๔ เดือน และสำนวนที่ ๒ มีกำหนด ๕ เดือน ให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปโดยไม่นับโทษติดต่อกัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองสามารถตกลงกันได้ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้ศาลฎีกาออกนั่งพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว และโจทก์ทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง จำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับคำร้องของจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า คดีทั้งสองสำนวนนี้เป็นคดีอาญา โจทก์และจำเลยทั้งสองจะขอให้ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาตามยอมตามคำร้องของจำเลยทั้งสองหาได้ไม่ ให้ยกคำร้อง ส่วนคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์นั้น เห็นว่า คดีทั้งสองสำนวนนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองสำนวนถอนฟ้องได้ สิทธินำ คดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๒) และมีผลให้คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองระงับไปด้วยในตัว ให้จำหน่ายคดีทั้งสองสำนวนนี้เสียจากสารบบความ .

Share