แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518มาตรา31วรรคแรกห้ามมิให้นายจ้างโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเฉพาะเมื่อมีการแจ้งข้อเรียกร้องและข้อเรียกร้องนั้นอยู่ในระหว่างการเจรจาการไกล่เกลี่ยหรือชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานเมื่อผู้ร้องมีคำสั่งโยกย้ายผู้คัดค้านไปทำงานในตำแหน่งใหม่ก่อนมีการยื่นข้อเรียกร้องการที่ผู้ร้องมีหนังสือเตือนผู้คัดค้านให้ไปทำงานในตำแหน่งใหม่แม้จะอยู่ในระหว่างการเจรจาข้อพิพาทก็เป็นการเตือนถึงคำสั่งโยกย้ายก่อนมีการแจ้งข้อเรียกร้องจึงไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2537 ผู้ร้องมีคำสั่งโยกย้ายผู้คัดค้านลูกจ้างผู้ร้องซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างจากตำแหน่งพนักงานฝ่ายผลิตรายวันไปเป็นพนักงานเสมียนในตำแหน่งเสมียนผู้จัดการทั่วไป แต่ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ผู้ร้องมีหนังสือเตือนผู้คัดค้านแล้ว 2 ครั้ง ผู้คัดค้านยังไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่ใหม่ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของผู้ร้อง และเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่มีความรู้ความสามารถที่จะทำงานในตำแหน่งใหม่ได้ ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2537ผู้คัดค้านกับพวกในนามของสหภาพแรงงานลูกจ้างผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้อง ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการเจรจา ผู้ร้องจึงหาสาเหตุเลิกจ้างผู้คัดค้าน การกระทำของผู้ร้องเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีคำสั่งโยกย้ายผู้คัดค้านไปทำงานในตำแหน่งเสมียนผู้จัดการทั่วไป โดยปรับจากลูกจ้างรายวันเป็นลูกจ้างรายเดือน ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2537 ก่อนวันที่สหภาพแรงงานลูกจ้างผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์จะยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2537 จึงถือไม่ได้ว่าที่ผู้ร้องโยกย้ายหน้าที่การงานของผู้คัดค้านเป็นการโยกย้ายในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานทั้งถือไม่ได้ว่าคำสั่งของนายจ้างดังกล่าวเป็นการออกเพื่อขัดขวางมิให้ผู้คัดค้านดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้องอันจะเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าข้อพิพาทแรงงานดังกล่าวตกลงกันได้ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2537 แต่จนถึงวันนัดสืบพยานผู้ร้อง (วันที่ 7พฤศจิกายน 2537) ผู้คัดค้านก็ยังมิได้ไปทำงานตามตำแหน่งใหม่กรณีถือได้ว่าผู้คัดค้านฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้าง การโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นอำนาจบริหารงานบุคคลหรือกิจการของนายจ้างซึ่งย่อมกระทำได้โดยชอบ ผู้ร้องปรับผู้คัดค้านจากลูกจ้างรายวันเป็นลูกจ้างรายเดือน ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้คัดค้าน ทั้งตำแหน่งหน้าที่ใหม่ก็ปรากฏว่าเป็นการจัดทำเอกสาร ตรวจเช็ครายชื่อ ทำรายงาน ซึ่งผู้คัดค้านจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ ย่อมจะทำงานในตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้ยากนัก ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความไม่ไปปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ใหม่ ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องทั้งยังเป็นการละทิ้งหน้าที่กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
ผู้คัดค้าน อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ในข้อต่อไปว่า สหภาพแรงงานที่ผู้คัดค้านเป็นสมาชิกอยู่ได้ยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2537 ผู้ร้องออกหนังสือเตือนผู้คัดค้านในวันที่ 14 กันยายน 2537 ซึ่งอยู่ในระหว่างการเจรจาต่อรองข้อพิพาท การเตือนของผู้ร้องต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 วรรคแรก ถือว่าผู้ร้องมิได้มีการเตือนผู้คัดค้านแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 วรรคแรก บัญญัติห้ามมิให้นายจ้างโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเฉพาะกรณีเมื่อมีการแจ้งข้อเรียกร้องและข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานเท่านั้น หากโยกย้ายก่อนมีการแจ้งข้อเรียกร้อง ก็ไม่ต้องห้ามดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติโดยศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสองว่า ผู้ร้องนายจ้างมีคำสั่งโยกย้ายผู้คัดค้านลูกจ้างไปทำงานในตำแหน่งใหม่ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2537 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่สหภาพแรงงานผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์จะยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2537 กรณีจึงเป็นการโยกย้ายก่อนมีการแจ้งข้อเรียกร้อง ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 31 วรรคแรก การที่ผู้ร้องมีหนังสือเตือนผู้คัดค้านในวันที่ 14 กันยายน 2537 ให้ไปทำงานในตำแหน่งใหม่ซึ่งแม้จะอยู่ในระหว่างการเจรจาข้อพิพาทก็เป็นการเตือนถึงคำสั่งที่โยกย้ายก่อนมีการแจ้งข้อเรียกร้อง จึงไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน