แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์มิใช่ขอให้เพิกถอนการประเมินที่จะต้องอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา30แห่งประมวลรัษฎากรและกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยเห็นว่าโจทก์จะต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระแต่โจทก์ไม่ชำระจำเลยจึงได้ยึดทรัพย์สินของโจทก์ตามอำนาจแต่โจทก์อ้างว่าไม่ต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรรายนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ.2528มาตรา7(2)โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยโดยนำข้อเท็จจริงจากการสอบถามคู่ความมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีดังนี้คำสั่งงดสืบพยานในกรณีนี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาปรากฎว่าจำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งไว้ทั้งที่จำเลยมีเวลาโต้แย้งได้จึงต้องห้ามอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แม้ฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างผู้กระทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศในประเทศไทยเมื่อเจ้าพนักงานประเมินยังมิได้เรียกโจทก์มาไต่สวนและแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา19,20คงประเมินไปยังผู้จัดการสาขาบริษัทคนใหม่ทำให้โจทก์ไม่มีโอกาสอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา76ทวิวรรคสามกรณียังมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้ครบถ้วนจำเลยจึงยังไม่มีอำนาจยึดทรัพย์สินของโจทก์ตามมาตรา12
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยทำงานอยู่กับสำนักงานกฎหมายชื่อห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ ระหว่างที่โจทก์ทำงานอยู่กับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลดังกล่าว บริษัทรีนา แวร์ ดีสทริบิวเตอร์ส พีทีวาย จำกัด ได้เข้ามาเปิดสำนักงานสาขาในประเทศไทย และขอความช่วยเหลือในด้านกฎหมายจากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลดังกล่าว โดยให้เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนสาขาต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ บริษัทรีนาแวร์ ดีสทริบิวเตอร์ส พีทีวาย จำกัด ขอให้โจทก์ลงชื่อเป็นผู้จัดการสาขาเพื่อให้สามารถทำการจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนดังกล่าวได้ เมื่อปี 2534 โจทก์ได้ไปยื่นคำร้องเพื่อจดทะเบียนนิติกรรมโอนที่ดินที่สำนักงานที่ดินเขตราษฎร์บูรณะเจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมจดทะเบียนให้โดยแจ้งว่าจำเลยได้มีคำสั่งยึดที่ดินดังกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ทำการแทนบริษัทรีนาแวร์ ดีสทริบิวเตอร์ส พีทีวาย จำกัด ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน2534 โจทก์จึงได้รับประกาศยึดทรัพย์สินของโจทก์ ลงวันที่1 ตุลาคม 2534 การยึดทรัพย์ดังกล่าวได้กระทำโดยจำเลยรู้อย่างแจ้งชัดว่าทรัพย์สินที่ถูกยึดมิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทรีนา แวร์ ดีสทริบิวเตอร์ส พีทีวาย จำกัด ผู้ถูกประเมินภาษีขอให้เพิกถอนคำสั่งประกาศยึดทรัพย์ที่ บร. 1913/2534 ฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2534 และเพิกถอนการอายัดรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด ฟัลคอนหมายเลขทะเบียน 8ก-5835 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์ยี่ห้อมาสด้าหมายเลขทะเบียน 5ห-2110 กรุงเทพมหานคร และให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 1,163,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมิน ยึด อายัดทรัพย์สิน ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และบริษัทมิได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายบริษัทจึงหมดสิทธินำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลจึงได้ขอถอนฟ้องคดีที่ฟ้องจำเลยไว้และศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความคดีถึงที่สุดแล้ว ปรากฎตามคดีหมายเลขแดงที่ 115/2535 ของศาลภาษีอากรกลางโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะกล่าวอ้างอีกต่อไปว่าการประเมินไม่ถูกต้องอีกทั้งได้แจ้งเตือนไปยังโจทก์ถึง 2 ครั้ง เมื่อโจทก์ได้รับทราบแล้วกลับเพิกเฉยจำเลยจึงได้ใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรยึดทรัพย์สินของโจทก์ ในการดำเนินการยึดทรัพย์เป็นอำนาจของจำเลยโดยเฉพาะไม่จำเป็นต้องเรียกโจทก์ไปไต่สวนก่อนแต่อย่างใดแต่ตามข้อเท็จจริงปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้เรียกโจทก์ไปไต่สวนแล้วแต่โจทก์เองกลับบิดพลิ้วและไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้นโจทก์จะอ้างเหตุว่า การยึดทรัพย์ของจำเลยกระทำไปโดยไม่มีอำนาจหาได้ไม่ และฟ้องของโจทก์ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนการยึดทรัพย์สินของโจทก์ตามประกาศยึดทรัพย์ที่ บร.1913/2534 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2534คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ คำสั่งงดสืบพยานของศาลภาษีอากรกลางชอบหรือไม่ และโจทก์ต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรรายนี้ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ สำหรับในประเด็นข้อแรกนั้น จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อบริษัทรีนา แวร์ ดีสทริบิวเตอร์ส พีทีวาย จำกัด มิได้อุทธรณ์การประเมินย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง และโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนก็ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องด้วยแม้ปัญหานี้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้เห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์มิใช่ขอให้เพิกถอนการประเมินซึ่งจะต้องอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 30แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์คดีนี้ต่อศาลภาษีอากรกลางนั้น เห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยเห็นว่าโจทก์จะต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรค้างที่พิพาท แต่โจทก์ไม่ชำระ จำเลยจึงได้ยึดทรัพย์สินของโจทก์ตามอำนาจในมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรแต่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรค้างรายนี้ จำเลยไม่มีอำนาจยึดทรัพย์สินของโจทก์ขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งจะต้องพิจารณาและวินิจฉัยว่าโจทก์จะต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรค้างรายนี้หรือไม่ จึงเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7(2)โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์คดีนี้ต่อศาลภาษีอากรกลาง อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า คำสั่งงดสืบพยานของศาลภาษีอากรกลางชอบหรือไม่ปรากฎจากถ้อยคำสำนวนว่าเมื่อสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบก่อนไปแล้ว 1 ปาก ได้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ต่อพอถึงวันนัดศาลภาษีอากรกลางได้เลื่อนการสืบพยานโจทก์ไปอีกเพื่อนัดพร้อมสอบถามคู่ความเกี่ยวกับข้อเท็จจริงบางประการ และเมื่อถึงวันนัดพร้อมคือวันที่ 23 ธันวาคม 2536 ศาลภาษีอากรกลางจึงได้สอบถามข้อเท็จจริงบางประการจากคู่ความทั้งสองฝ่าย แล้วศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 29 ธันวาคม 2536 และศาลภาษีอากรกลางก็ได้พิพากษาคดีในวันที่ 29 ธันวาคม 2536 โดยนำข้อเท็จจริงจากการสอบถามคู่ความมาวินิจฉัยชี้ขาดคดี ดังนี้คำสั่งงดสืบพยานของศาลภาษีอากรกลางในกรณีนี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากคู่ความจะอุทธรณ์ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้แต่ปรากฎว่าจำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่มีเวลาโต้แย้งได้เพราะนับจากวันที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งจนถึงวันที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาคดีห่างกันถึง 6 วัน จำเลยจึงต้องห้ามอุทธรณ์คำสั่งนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนอุทธรณ์ข้อสุดท้ายที่ว่า โจทก์ต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรรายนี้หรือไม่นั้นเห็นว่า แม้จะฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้าง ผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการของบริษัทรีนา แวร์ ดีสทริบิวเตอร์สพีทีวาย จำกัด ในประเทศไทยซึ่งต้องรับผิดเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิดังจำเลยอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าเจ้าพนักงานประเมินยังมิได้เรียกโจทก์มาไต่สวนและแจ้งการประเมินภาษีอากรรายนี้ไปยังโจทก์ผู้ซึ่งต้องรับผิดเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรมาตรา 19, 20 คงประเมินภาษีอากรรายนี้ไปยังนายเดวิด ไลแมนผู้จัดการบริษัทดังกล่าวเท่านั้นทำให้โจทก์ไม่มีโอกาสอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 76 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรเมื่อยังมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้ครบถ้วนจำเลยจึงยังไม่มีอำนาจยึดทรัพย์สินของโจทก์ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการยึดทรัพย์สินของโจทก์จึงชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น” พิพากษายืน