คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 808/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นธนาคาร เป็นบริษัทจำกัดจดทะเบียนตามกฎหมายมีวัตถุประสงค์ประกอบการธนาคารพาณิชย์ มีประเพณีธนาคารคำนวณดอกเบี้ยทบต้น กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคสอง โจทก์จึงย่อมคิดดอกเบี้ยทบต้นในจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมโดยวิธีเบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์ได้เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยที่ 2 ที่ 3จึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีของธนาคารโจทก์ โดยใช้เช็คเบิกเงินและรับเงินไปจากธนาคารโจทก์ ทั้งจำเลยได้เคยนำเงินเข้าบัญชีเป็นบางครั้งเอกสารการเงินนี้เป็นชุดและจำนวนมากด้วยกัน จะนำส่งในวันพิจารณาจำเลยค้างดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องอยู่เป็นเงินทั้งสิ้น 7,290.79 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ย จำเลยค้างอยู่ทั้งสิ้น 57,290.79 บาท คำฟ้องจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว
จำเลยที่ 2 ที่ 3 อ้างในฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินที่ขายรถยนต์ที่เอามาเป็นประกันเงินที่จำเลยที่ 1กู้ยืมไปจากโจทก์มาฝากไว้กับธนาคารโจทก์เกินกว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ดังนี้ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ว่าโจทก์เพิกเฉยต่อทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 นำมาประกันเงินกู้ของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 โอนทรัพย์สินของตนพ้นจากการถูกบังคับชำระหนี้ไม่ชอบที่ศาลบังคับผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 นั้น จึงฟังไม่ขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโดยวิธีเบิกเงินเกินบัญชีให้ไว้แก่โจทก์จำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในระบบดอกเบี้ยทบต้น กำหนดส่งต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญา จำเลยใช้เช็คเบิกและรับเงินไปเป็นจำนวนตามที่โจทก์จะส่งศาลในวันพิจารณาเมื่อครบกำหนดสัญญา โจทก์จำเลยตกลงต่อสัญญาอีก 6 เดือน โดยถือสัญญาเดิม ครบกำหนดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2507 จำเลยนำรถยนต์โดยสารเข้ามาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันรวมต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้าง 57,290.79 บาท ขอศาลพิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในระบบดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันฟ้อง

จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่ได้กู้เงินโจทก์ ได้ลงชื่อให้โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ผู้อื่น ฯลฯ

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การรับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 จริง แต่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นโมฆะฟ้องเคลือบคลุม ฯลฯ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 นับแต่วันฟ้อง ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ในเงิน 50,000 บาท

จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาว่าสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ เพราะโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าบริษัทธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยาจำกัดโจทก์จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์ประกอบการธนาคารพาณิชย์ และฟังข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีประเพณีธนาคารคำนวณดอกเบี้ยทบต้น กรณีเช่นนี้ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรค 2 การกระทำดังกล่าวของโจทก์หาเป็นการฝ่าฝืนบทกฎหมายที่โจทก์ฎีกานั้นไม่ สัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 สมบูรณ์ใช้บังคับได้

ส่วนที่จำเลยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า กรณีนี้ธนาคารโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีของธนาคารโจทก์โดยใช้เช็คเบิกเงินและรับเงินไปจากธนาคารโจทก์ ทั้งจำเลยได้เคยนำเงินเข้าบัญชีเป็นบางครั้ง เอกสารการเงินนี้เป็นชุดและจำนวนมากด้วยกัน โจทก์จะนำส่งในวันพิจารณา โจทก์กล่าวในฟ้องด้วยว่าจำเลยค้างดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องอยู่เป็นเงินทั้งสิ้น7,290.79 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยจำเลยค้างอยู่ทั้งสิ้น 57,290.79 บาท ดังรายละเอียดซึ่งยกขึ้นกล่าวแล้วข้างต้น คำฟ้องจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว

จำเลยฎีกาว่า โจทก์เพิกเฉยต่อทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 นำมาค้ำประกันเงินกู้ของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 โอนทรัพย์สินของตนพ้นจากการถูกบังคับชำระหนี้ จึงไม่ชอบที่ศาลบังคับผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า จำเลยอ้างในฎีกาว่าจำเลยที่ 1 นำเงินที่ขายรถยนต์ไปฝากธนาคารโจทก์เกินกว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้นเพราะเป็นการขายรถยนต์มาชำระหนี้มิใช่เป็นการโอนให้หลุดพ้นจากการชำระหนี้ จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องโดยไม่สุจริตยังไม่ชอบ

พิพากษายืน

Share