คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4303/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 25 ตรี วรรคสอง วางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000 บาท ถึง 200,000 บาท แต่ พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง วางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องถือว่า พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายฐานนี้ให้ถูกต้องได้
ความผิดฐานเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายไว้เพื่อจำหน่ายขาย และทำการจำหน่ายขายในสถานที่ที่มิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 48 นั้นปรากฏว่าขณะคดีนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 มาตรา 7 (1) บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการเก็บรักษา และการควบคุมอื่นเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อมาได้มีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อที่ 2 (3) กำหนดให้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่า 37.8 องศาเซลเซียส เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมาก ดังนั้น น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วออกเทน 95 ซึ่งมีจุดวาบไฟต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส อันเป็นเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 4 (3) ถือว่าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมากตาม พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 เมื่อสถานีบริการน้ำมันของจำเลยเป็นสถานีบริการน้ำมันที่เก็บรักษาน้ำมันชนิดไวไฟมากไว้ในถังน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีบริการน้ำมันของจำเลยจึงเป็นสถานีบริการน้ำมันประเภท ง ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อ 15 ซึ่งแก้ไขโดยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 ข้อ 2 อันเป็นกิจการควบคุมประเภทที่ 2 ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อ 19 (3) ซึ่งกฎกระทรวงข้อที่ 21 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกิจการต้องแจ้งการประกอบกิจการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบ ธฑ.น. ท้ายกฎกระทรวง โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ การที่จำเลยประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 การกระทำของจำเลยแม้เป็นความผิดดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง จำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 4, 25 ตรี พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 48 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ริบของกลาง และนับโทษของจำเลยติดต่อกับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 7128/2542 ของศาลชั้นต้น
จำเลยไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ (ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบถามจำเลยว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อหรือไม่)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 4, 25 ตรี (ที่ถูก วรรคสอง) พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 48 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐาน (ที่ถูก ฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันกระทำการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย) จำคุก 2 ปี ฐานเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายไว้เพื่อจำหน่ายขาย จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 2 เดือน ริบของกลาง คำขอให้นับโทษต่อให้ยก เนื่องจากศาลยังไม่มีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 7128/2542 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะฐานเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายไว้เพื่อจำหน่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 มาตรา 63 ส่วนกำหนดโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันกระทำการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่ายหรือไม่ คดีนี้แม้โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าผู้ใดเป็นผู้ปลอมปนน้ำมันคงได้ความเพียงว่า เจ้าพนักงานมาตรวจสอบคุณภาพน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันโดยจำเลยได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมัน พบน้ำมันเชื้อเพลิงของกลางที่ระบุตามฟ้องจำนวน 400 ลิตร มีคุณภาพต่ำกว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด อยู่ในความครอบครองของจำเลยก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ มาตรา 25 ตรี วรรคสาม บัญญัติว่า ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดมีปริมาณตั้งแต่ 200 ลิตร ขึ้นไป ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นผู้กระทำการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้มีน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อใช้ในกิจการของตน หรือได้น้ำมันเชื้อเพลิงนั้นมาโดยไม่ทราบว่าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จากข้อสันนิษฐานดังกล่าว จึงถือได้ว่า จำเลยเป็นผู้ปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงมาจากผู้อื่นโดยไม่ทราบว่ามีการปลอมปน เห็นว่า คงมีแต่คำเบิกความของจำเลยตามข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายได้ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานนี้ตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ในความผิดฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ไม่เป็นคุณจึงต้องใช้พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 บังคับจำเลยนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 25 ตรี วรรคสอง วางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 200,000 บาท แต่พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง วางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องถือว่าพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายฐานนี้ให้ถูกต้องได้ ทั้งการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานนี้ก่อนลดโทษมีกำหนด 2 ปี นั้น เห็นว่าสูงเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ส่วนความผิดฐานเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายไว้เพื่อจำหน่ายขายและทำการจำหน่ายขายในสถานที่ที่มิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 48 นั้นปรากฏว่า ขณะคดีนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 ออกมาใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2475 โดยพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 มาตรา 7 (1) บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการเก็บรักษา และการควบคุมอื่นใดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อมาได้มีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อที่ 2 (3) กำหนดให้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่า 37.8 องศาเซลเซียส เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมาก ดังนั้นน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วออกเทน 95 ซึ่งมีจุดวาบไฟต่ำกว่า 23 อาศาเซลเซียส อันเป็นเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2475 มาตรา 4 (3) ถือว่าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมากตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 เมื่อสถานีบริการน้ำมันของจำเลยเป็นสถานีบริการน้ำมันที่เก็บรักษาน้ำมันชนิดไวไฟมากไว้ในถังน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของจำเลยจึงเป็นสถานีบริการน้ำมันประเภท ง ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้งการอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อ 15 ซึ่งแก้ไขโดยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 ข้อ 2 อันเป็นกิจการควบคุมประเภทที่ 2 ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อ 19 (3) ซึ่งกฎกระทรวงข้อที่ 21 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกิจการต้องแจ้งการประกอบกิจการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบ ธฑ.น. ท้ายกฎกระทรวง โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ การที่จำเลยประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 การกระทำของจำเลยแม้เป็นความผิดดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง จำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ไม่อาจลงโทษจำเลยในวามผิดฐานนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันกระทำการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ประกอบมาตรา 11 และพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 25 ตรี วรรคสอง จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share