แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งถูกเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) เมื่อเกินกำหนดหนึ่งปีไปแล้วนับแต่วันละเมิด จะยกอายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ขึ้นต่อสู้ไม่ได้ เพราะผู้รับประกันภัยต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย มิใช่ร่วมรับผิดในมูลละเมิด
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้าง และจำเลยที่ 2 นายจ้างร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองในมูลละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไปชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย และทำให้โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้หลายประการ รวมทั้งปฏิเสธความผิดว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาท และเรียกค่าเสียหายสูงเกินไป
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทธนกิจประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การต่อสู้และปฏิเสธความรับผิดเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ต่อสู้ด้วยว่า จำเลยที่ 2 เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีให้รับผิดต่อโจทก์เกิน 1 ปี นับแต่วันละเมิด คดีโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมขาดนัดพิจารณา แต่จำเลยร่วมมาศาลระหว่างสืบพยานโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,600 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 8,576 บาท และให้จำเลยร่วม ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อโจทก์ที่ 2 เฉพาะค่ารักษาพยาบาลและค่าที่ต้องทนทุกข์เวทนาเสื่อมสุขภาพอนามัยเป็นเงิน 6,576 บาท
จำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยร่วมฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ
คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุเข้ามาในคดีเพื่อให้ร่วมรับผิดเมื่อเกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันละเมิด จึงมีปัญหาที่ว่าต้องวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์เฉพาะตัวจำเลยร่วมจะขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 เป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้เสียหายในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี กรณีของจำเลยร่วมเป็นเรื่องจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลเรียกเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย เพราะจำเลยร่วมจะต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย จะนำบทบัญญัติมาตรา 448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับไม่ได้
พิพากษายืน