คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2218/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สมาคมการศึกษาและการกุศลสงเคราะห์ รับสมัครสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ตามระเบียบการของสมาคมเมื่อแรกเข้าเป็นสมาชิกผู้สมัครต้องชำระเงินค่าสมัคร ค่าบำรุง ค่าอุปการะ เพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเงินฝากสงเคราะห์ฌาปนกิจ โดยชำระครั้งเดียวหรือผ่อนชำระก็ได้ เมื่อสมาชิกถึงแก่กรรม ทายาทก็จะได้รับเงินฌาปนกิจศพตามเกณฑ์อายุของสมาชิกและอายุการเป็นสมาชิกลดหลั่นกันไป เช่นนี้ เห็นได้ว่า เมื่อมีผู้เข้ามาเป็นสมาชิกตามระเบียบการของสมาคมย่อมจะเกิดเป็นสัญญาผูกพันกันระหว่างสมาคมกับสมาชิก อันสามารถบังคับกันได้ตามกฎหมายผลปฏิบัติระหว่างคู่สัญญาหาใช่เป็นการเรี่ยไรเงินระหว่างสมาชิกเพื่อเป็นการกุศลไม่ การส่งเงินฝากสงเคราะห์ฌาปนกิจของสมาชิกต่อสมาคม เป็นวิธีการปฏิบัติดุจเดียวกับการส่งเบี้ยประกันเพื่อประกันชีวิตไว้กับสมาคม สัญญาระหว่างสมาคมกับสมาชิกจึงเข้าลักษณะสัญญาประกันชีวิต การประกอบธุรกิจของสมาคมจึงเป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิตอันฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกันชีวิตพ.ศ. 2510 มาตรา 12 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2516)
ความตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2510 มาตรา 58 วรรค 1
จะเกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับการกระทำที่ฝ่าฝืนโดยทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตให้บริษัทจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตเท่านั้น เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเพียงตัวแทนประกันชีวิตให้สมาคมการศึกษาและการกุศลสงเคราะห์ และจำเลยเป็นผู้ปราศจากสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับใบอนุญาตให้เป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทจากนายทะเบียนได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 58 วรรคหนึ่งซึ่งมีโทษตามมาตรา 86
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 22/2516)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิตของสมาคมการศึกษาและการกุศลสงเคราะห์ศูนย์บริการเขต ๔ สาขาจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และจำเลยแนะนำชักชวนบุคคลในท้องที่ตำบลคลัง และตำบลอื่น ๆ ในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อให้เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับสมาคม โดยที่สมาคมดังกล่าวมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.๒๕๑๐มาตรา ๕๘, ๗๒, ๘๖, ๙๕
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๕๘ ให้ลงโทษตามมาตรา ๘๖จำคุก ๓ เดือน ส่วนข้อหาตามมาตรา ๗๒ โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้ จึงให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๕๘ เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า สมาคมการศึกษาและการกุศลสงเคราะห์มีระเบียบการว่า ผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ มีสิทธิได้รับเงินฌาปนกิจศพ โดยทายาทเป็นผู้รับ เมื่อแรกเข้าเป็นสมาชิกผู้สมัครจะต้องเสียเงินค่าสมัคร ค่าบำรุง ค่าอุปการะ เพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเงินฝากสงเคราะห์ฌาปนกิจ เป็นเงินคนละ ๑,๔๘๐ บาท โดยชำระครั้งเดียว หรือผ่อนชำระก็ได้ถ้าผ่อนชำระจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เมื่อสมาชิกถึงแก่กรรม ทายาทก็จะได้รับเงินตามเกณฑ์อายุของสมาชิกและอายุการเป็นสมาชิกลดหลั่นกันไปจำเลยทำการเป็นตัวแทนของสมาคมเคยรับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ของสมาคม จึงวินิจฉัยว่าโดยเหตุที่พระราชบัญญัติประกันชีวิตพ.ศ.๒๕๑๐ มิได้ให้คำจำกัดความหรือบทนิยามคำว่า “สัญญาประกันชีวิต”ไว้โดยเฉพาะ ฉะนั้น การใดจะเข้าลักษณะสัญญาประกันชีวิตหรือไม่จำต้องพิเคราะห์บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นหลักซึ่งย่อมหมายถึง สัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้รับประโยชน์โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลผู้เป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลอื่น เงินอันพึงจะต้องใช้ตามสัญญานั้น จะชำระจำนวนเดียวหรือเป็นรายปีก็ได้ แล้วแต่จะตกลงกัน และเพื่อการนี้ บุคคลผู้เอาประกันยอมตกลงด้วยว่าจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันให้แก่ผู้รับประกันตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่าเมื่อมีผู้เข้ามาเป็นสมาชิกตามระเบียบการของสมาคมแล้ว ย่อมจะเกิดเป็นสัญญาผูกพันกันระหว่างสมาคมกับสมาชิกขึ้นอันสามารถจะบังคับกันได้ตามกฎหมาย ผลปฏิบัติระหว่างคู่สัญญาหาใช่เป็นการเรี่ยไรระหว่างสมาชิก เพื่อเป็นการกุศลไม่ ตามสัญญาเช่นว่านั้นมีข้อตกลงระหว่างกันด้วยว่า ทางสมาคมจะจ่ายเงินให้แก่ทายาทผู้ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการตายของสมาชิก ฝ่ายสมาชิกก็ตกลงจะส่งเงินฝากสงเคราะห์ฌาปนกิจให้แก่สมาคม โดยส่งครั้งเดียวหรือส่งเป็นงวดก็ได้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การส่งเงินของสมาชิกต่อสมาคม เป็นวิธีการปฏิบัติดุจเดียวกับการส่งเบี้ยประกันเพื่อประกันชีวิตไว้กับสมาคม สัญญาระหว่างสมาคมกับสมาชิกของสมาคมจึงเข้าลักษณะสัญญาประกันชีวิต แม้ตามข้อสัญญาหรือระเบียบการของสมาคมจะใช้ถ้อยคำเรียกฝากสงเคราะห์ฌาปนกิจแทนเบี้ยประกัน ก็หามีผลเปลี่ยนแปลงสารสำคัญแห่งสัญญาอย่างใดไม่ ฉะนั้น การประกอบธุรกิจของสมาคมดังที่กล่าวมา ต้องถือว่าเป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิตอันฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกันชีวิตพ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๑๒ แล้ว แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๕๘ วรรค ๑ บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือเป็นนายหน้าประกันชีวิต โดยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนแต่ตามมาตรา ๕ มีบทนิยามคำว่า “บริษัท”หมายความว่า บริษัทจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต ฯลฯส่วนคำว่า “ตัวแทนประกันชีวิต” หมายความว่าผู้ซึ่งบริษัทมอบหมายให้ทำการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ความผิดตามมาตรา ๕๘ วรรค ๑ จะเกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับการกระทำที่ฝ่าฝืนโดยทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตให้บริษัทจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตเท่านั้น เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเพียงตัวแทนประกันชีวิตให้สมาคม จึงมิใช่กรณีอันฝ่าฝืนตามมาตรา ๕๘ วรรค ๑ เพราะจำเลยเป็นผู้ปราศจากสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับใบอนุญาตให้เป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทจากนายทะเบียนได้เหตุนี้จำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรา ๕๘ วรรค ๑ ซึ่งมีโทษตามมาตรา ๘๖
พิพากษายืน

Share