แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่ได้ความภายหลังว่าก่อนตาย ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ทั้งหมดให้แก่โจทก์ที่ 1 และตั้งให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก จำเลยจึงถูกตัดมิให้รับมรดก และไม่มีสิทธิที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก จึงมีเหตุเพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายเงินหรือถุงเงิน ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับทรัพย์สินตลอดจนสิทธิเรียกร้องทั้งหมดแต่ผู้เดียว และตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก นายเงินหรือถุงเงินตายเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2522 จำเลย อ้างว่าเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 221/2526 ของศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายเงินหรือถุงเงิน และห้ามกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดการมรดกดังกล่าวอันทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองได้
จำเลยให้การว่า นายเงินหรือถุงเงินไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้พินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายเงินหรือถุงเงิน และห้ามกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดการมรดกของนายเงินหรือถุงเงินอันทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่ามีเหตุที่จะสั่งเพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายเงินหรือถุงเงินได้หรือไม่ในปัญหาดังกล่าวนี้โจทก์มีตัวโจทก์ทั้งสองนายสันต์ชัย พงษ์พรต เจ้าหน้าที่ปกครองผู้รับคำร้องขอทำพินัยกรรมผู้พิมพ์พินัยกรรมและผู้ลงชื่อเป็นพยาน นายวิเชียร บุญญสิทธิกุลเจ้าหน้าที่ปกครองผู้ลงชื่อเป็นพยานและนายจุลพงศ์ จันทรดีผู้ลงชื่อในฐานะผู้รักษาการแทนนายอำเภอเมืองนครสวรรค์ มาเบิกความเป็นพยานสรุปเป็นใจความว่า นายเงินหรือถุงเงิน เพสย์นิกรได้ไปยื่นคำร้องขอทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์นายสันต์ชัยได้สอบถามรายละเอียดต่าง ๆ และได้จัดพิมพ์พินัยกรรมให้ตามความประสงค์โดยนายเงินหรือถุงเงินยกทรัพย์สินทั้งหมดของตนให้แก่โจทก์ที่ 1 และได้ตั้งให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายเงินหรือถุงเงินด้วย นายสันต์ชัยได้นำนายเงินหรือถุงเงินพร้อมกับนายวิเชียรพยานไปพบนายจุลพงศ์ ซึ่งทำหน้าที่รักษาการแทนนายอำเภอเมืองนครสวรรค์ในขณะนั้น นายจุลพงศ์ได้อ่านข้อความในพินัยกรรมให้นายเงินหรือถุงเงินฟังต่อหน้านายสันต์ชัยและนายวิเชียรพยานทั้งสองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อนายเงินหรือถุงเงินรับว่าถูกต้องตามความประสงค์ของตนแล้วจึงได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมดังกล่าวเป็นลำดับแรก ต่อจากนั้นนายสันต์ชัยและนายวิเชียรลงชื่อเป็นพยาน ส่วนนายจุลพงศ์ลงชื่อในฐานะรักษาการแทนนายอำเภอเป็นคนสุดท้าย แล้วเจ้าหน้าที่ได้นำพินัยกรรมดังกล่าวไปประทับตราประจำตำแหน่งของนายอำเภอดังปรากฏตามเอกสารหมายป.จ.1 และได้นำไปลงทะเบียนพินัยกรรมไว้เป็นหลักฐานดังปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ.4 ทั้งได้ออกใบรับพินัยกรรมให้นายเงินหรือถุงเงินผู้ทำพินัยกรรมไปดังปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ.3สำหรับตราที่ประทับในเอกสารหมาย ป.จ.2 ไม่ปรากฏให้เห็นอาจเป็นเพราะเวลาถ่ายเอกสารนั้นถ่ายไม่ติดตราดังกล่าวลงไปก็เป็นได้ไม่ใช่ไม่มีตราประทับดังที่จำเลยอ้าง เห็นว่า นอกจากโจทก์จะมีโจทก์ทั้งสองเบิกความยืนยันว่านายเงินหรือถุงเงินได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนทั้งหมดให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ยังมีนายสันต์ชัยผู้รับคำร้องขอทำพินัยกรรม ผู้พิมพ์พินัยกรรมและเป็นพยานในพินัยกรรม นายวิเชียร ผู้เป็นพยานในพินัยกรรม และนายจุลพงศ์ผู้ลงชื่อในฐานะผู้รักษาการแทนนายอำเภอเมืองนครสวรรค์ในขณะนั้นมาเบิกความยืนยันว่า นายเงินหรือถุงเงินได้มาขอทำพินัยกรรมดังกล่าวจริง พยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามอำนาจหน้าที่ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง ประกอบทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความด้วยว่าหลังจากนางละมูลหรือลมูลภรรยาของนายเงินหรือถุงเงินถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ดูแลนายเงินหรือถุงเงินเรื่อยมา เมื่อนายเงินหรือถุงเงินเจ็บป่วยโจทก์ที่ 1 ก็ได้นำไปรักษาที่โรงพยาบาล จึงอาจเป็นเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้นายเงินหรือถุงเงินมีความเห็นอกเห็นใจถึงกับตัดสินใจทำพินัยกรรมดังกล่าวยกทรัพย์ของตนที่เหลืออยู่ให้แก่โจทก์ที่ 1ทั้งหมดดังกล่าวแล้ว ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่าลายมือชื่อนายเงินหรือถุงเงินในพินัยกรรมไม่เหมือนกับลายมือชื่อที่ปรากฏในเอกสารฉบับอื่น ๆ ที่นายเงินหรือถุงเงินเคยลงลายมือชื่อไว้นั้น เห็นว่าเมื่อได้พิจารณาโดยละเอียดแล้วก็จะเห็นได้โดยชัดเจนว่าลายมือชื่อนายเงินหรือถุงเงินตามเอกสารต่าง ๆ ที่จำเลยอ้างนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากแม้จะมีส่วนผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างก็อาจเป็นเพราะขณะที่นายเงินหรือถุงเงินทำพินัยกรรมนั้นนายเงินหรือถุงเงินมีอายุมากแล้วก็เป็นได้ จึงไม่เป็นข้อพิรุธแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยแน่ชัดว่านายเงินหรือถุงเงินได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ทั้งหมดของตน ให้แก่โจทก์ที่ 1แต่ผู้เดียว โดยแต่งตั้งให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของตนตามเอกสารหมาย ป.จ.1 จริง ดังนั้นแม้จำเลยจะเป็นบุตรอันเป็นทายาทคนหนึ่งของนายเงินหรือถุงเงินก็ตาม จำเลยย่อมถูกตัดมิให้รับมรดกของนายเงินหรือถุงเงินตามพินัยกรรมดังกล่าวประกอบทั้งนายเงินหรือถุงเงินได้ตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกไว้แล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะมาร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายเงินหรือถุงเงินได้อีก”
พิพากษายืน