แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรี และในมาตรา 221 ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการรับรองให้คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลที่สูงกว่านั้นมีบัญญัติไว้เป็นใจความอย่างเดียวกัน จึงย่อมอาจนำเหตุผลในฎีกาที่เกี่ยวกับมาตรา 221 มาเป็นหลักวินิจฉัยประกอบเทียบเคียงกันได้
การที่ผู้พิพากษาศาลล่างผู้มีอำนาจที่จะรับรองให้คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลที่สูงกว่าได้นั้น จะต้องบันทึกข้อความให้ครบหลักเกณฑ์ทั้งสองประการตามกฎหมาย คือข้อความที่ตัดสินไปเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งจะต้องบันทึกยืนยันว่าตนอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกาได้
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นบันทึกในอุทธรณ์ว่า “่ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ รับอุทธรณ์ สำเนาให้จำเลยที่ 2, 3 แก้ ดังนี้ ถือว่ายังมิได้มีการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกันกระทำผิด คือจำเลยที่ ๑ ได้ซื้อหุ้นของบริษัทมีชื่อจากโจทก์ และค้างค่าหุ้นอยู่ และโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้ชำระเงินจนศาลได้พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ ๑ สมคบกันกับจำเลยที่ ๒ ทำนิติกรรม โอนขายเรือของจำเลยที่ ๑ ให้แก่จำเลยที่ ๒ และสมคบกันทำนิติกรรมโอนขายเรือดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๓ อีกทอดหนึ่ง เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๕๐
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐ ให้จำคุก ๑ ปี ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย คดีสำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เพราะต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ศาลชั้นต้นจะได้บันทึกในอุทธรณ์ว่า “ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ รับอุทธรณ์สำเนาให้จำเลยที่ ๒, ๓ แก้” ก็มิได้ แสดงว่าผู้พิพากษาผู้สั่งอุทธรณ์อนุญาตให้อุทธรณ์สำหรับคดีจำเลยที่ ๑ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๓ ตรี และในมาตรา ๒๒๑ ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการรับรองให้คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลในระดับที่สูงกว่านั้น มีบัญญัติไว้เป็นใจความอย่างเดียวกันจึงย่อมอาจนำเหตุผลในฎีกาที่เกี่ยวกับมาตรา ๒๒๑ มาเป็นหลักวินิจฉัยประกอบเทียบเคียงกันได้ และศาลฎีกาเห็นต่อไปว่าการที่ผู้พิพาษาศาลล่างผู้มีอำนาจที่จะรับรองให้คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลที่สูงกว่าได้นั้น จะต้องบันทึกข้อความลงไว้ให้ครบหลักเกณฑ์ทั้ง ๒ ประการตามที่ได้มีกำหนดไว้ในกฎหมายโดยชัดเจน ดังเช่นในคดีนี้ ถ้าผู้พิพากษาผู้มีอำนาจรับรองอุทธรณ์มีความประสงค์ที่จะรับรองอุทธรณ์ของโจทก์ก็ชอบที่จะต้องบันทึกความเห็นของตนให้ได้ความว่าข้อความที่ตัดสินไปเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งจะต้องบันทึกยืนยันด้วยว่าตนอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ ทั้งนี้ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๕/๒๔๗๙ ระหว่างนายคำหมั้นผู้รับมอบอำนาจจากนายโง่ยชิน โจทก์ ขุนสถษฎิ์ระบิน จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๒/๒๕๑๓ ระหว่างนายเก ศรีเผือก กับพวก โจทก์ นางนวลอนงค์ ศรีเผือก จำเลย เพราะฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีนี้ยังไม่ได้มีการอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์กรณีไม่ต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๓ ตรี ศาลอุทธรณ์จึงไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยทุกประการ
พิพากษายืน.