แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาของลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตายในขณะปฏิบัติหน้าที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนและได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบ ย่อมเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่า เป็นการแจ้งให้นายจ้างทราบ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2516 ข้อ 16 และย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์ผู้เป็นนายจ้างได้จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามข้อ 2 ทั้งการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างนั้นอาจเป็นเหตุให้นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นได้ด้วยตามนัยแห่ง ข้อ 3 โจทก์จึงมีส่วนได้เสียอยู่ด้วยในการจ่ายหรือไม่จ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิ แม้เงินทดแทนนั้นจะจ่ายจากกองทุนเงินทดแทนก็ตาม เมื่อโจทก์ทักท้วงว่าจำเลยที่ 3ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ยืนยันว่าจะจ่ายเงินทดแทนแก่จำเลยที่ 3ดังนี้ ย่อมต้องถือว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานแล้ว ซึ่งข้อนี้ฝ่ายจำเลยก็ทราบดีดังจะเห็นได้จากหนังสือของจำเลยที่ 2 ยืนยันคำวินิจฉัยไปยังโจทก์ได้กล่าวไว้ด้วยว่า ถ้าโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย ก็ขอให้ร้องต่อศาลภายใน 15 วัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างโจทก์ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตายในขณะปฏิบัติหน้าที่โจทก์จึงได้จ่ายเงินทดแทนให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาผู้ตายต่อมาจำเลยที่ 3 กลับยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ซึ่งคู่ความตกลงกันได้ โดยโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 3 ไปรับเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทน จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและเป็นผู้วินิจฉัยในการจ่ายเงินทดแทนตามกฎหมาย ได้มีหนังสือแจ้งการวินิจฉัยมายังโจทก์ว่าอนุมัติให้จ่ายเงินทดแทนให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์เห็นว่าเป็นการจ่ายเงินทดแทนซ้ำซ้อนกับที่โจทก์ได้จ่ายไปแล้ว และจำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำเรียกร้องเกินกำหนดเวลา จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ขอให้พิจารณาและวินิจฉัยใหม่ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือตอบยืนยันคำวินิจฉัยเดิมจึงขอให้พิพากษาว่า คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินทดแทนตามฟ้องให้จำเลยที่ 3 และพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินทดแทนดังกล่าว
ศาลแรงงานกลางสั่งคำฟ้องของโจทก์ว่า คำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนเป็นเรื่องระหว่างกองทุนเงินทดแทนกับลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิ มิใช่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของผู้เป็นนายจ้าง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่รับฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำบรรยายฟ้องประกอบกับเอกสารท้ายฟ้องแสดงให้เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ผู้เป็นนายจ้างฟ้องคัดค้านการที่ผู้อำนวยการกองทุนเงินทดแทน จำเลยที่ 2 จะจ่ายเงินทดแทนให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาของลูกจ้างโจทก์ผู้ประสบอันตรายจนถึงแก่ความตาย การที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 กับบุตรมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน และได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบด้วยดังสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมาย 3 นั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่าเป็นการแจ้งให้นายจ้างทราบตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน และการอุทธรณ์ลงวันที่ 11 มิถุนายน2516 ข้อ 16 และย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า โจทก์ผู้เป็นนายจ้างได้จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามข้อ 2 ทั้งการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างนั้นอาจเป็นเหตุให้นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นได้ด้วยตามนัยแห่งข้อ 3 โจทก์จึงมีส่วนได้เสียอยู่ด้วยในการจ่ายหรือไม่จ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิ แม้เงินทดแทนนั้นจะจ่ายจากกองทุนเงินทดแทนก็ตาม เมื่อโจทก์ทักท้วงว่าจำเลยที่ 3ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ยืนยันว่าจะจ่ายเงินทดแทนแก่จำเลยที่ 3 ดังนี้ย่อมต้องถือว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานแล้วซึ่งข้อนี้ฝ่ายจำลยก็ทราบดีดังจะเห็นได้จากสำเนาเอกสารหมาย 5 ท้ายฟ้องซึ่งเป็นหนังสือของจำเลยที่ 2 ยืนยันคำวินิจฉัยไปยังโจทก์ได้กล่าวไว้ด้วยว่า ถ้าโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยก็ขอให้ร้องต่อศาลภายใน 15 วัน
พิพากษากลับ ให้รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป