แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่บุตรมีต่อบิดามารดานั้น เป็นหนี้ที่จะแบ่งกันชำระมิได้ เมื่อบิดาฟ้องจำเลยที่ทำละเมิดต่อบุตรถึงตาย เรียกค่าขาดไร้อุปการะย่อมมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ภริยาซึ่งเป็นเจ้าหนี้ด้วยแม้บิดามิได้รับมอบอำนาจจากมารดาให้ฟ้องก็ตาม
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์สำนวนแรก 153,800 บาท แก่โจทก์สำนวนหลัง 209,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำนวนเงินสำนวนแรกเป็น 106,800 บาท สำนวนหลังเป็น 148,985 บาท จำเลยทั้งสองฎีกาทั้งสองสำนวน โจทก์ทั้งสามในสำนวนแรกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “สำหรับค่าขาดแรงงานสำคัญในครอบครัวที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์สำนวนแรกไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยได้นั้น เห็นว่า ค่าขาดแรงงานในครัวเรือนก็เป็นค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่งซึ่งบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจะต้องใช้ให้แก่บุคคลภายนอกที่ต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย ไม่จำเป็นต้องมีสัญญาจ้างกันตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาแต่ประการใด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกได้และที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมานั้นเป็นจำนวนที่พอสมควรแล้ว ส่วนค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้ให้แก่โจทก์สำนวนหลังเป็นเงิน 120,000 บาทนั้นโจทก์สำนวนหลังบรรยายไว้ในฟ้องชัดแจ้งว่าผู้ตายมีหน้าที่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บิดามารดาเป็นเงินเดือนละ 1,000 บาท แม้จะปรากฏว่าโจทก์มิได้รับมอบอำนาจจากมารดาผู้ตายให้ฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะแทน แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1535 (กฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะฟ้อง) บัญญัติว่า บุตรต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ฉะนั้นค่าอุปการะเลี้ยงดูตามมาตรานี้จึงเป็นหนี้ที่จะแบ่งกันชำระมิได้ เจ้าหนี้แต่ละคนจึงมีสิทธิเรียกชำระหนี้เพื่อประโยชน์ด้วยกันหมดของเจ้าหนี้คนอื่นด้วย เมื่อบิดาซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งใช้สิทธิเรียกร้อง จึงมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของภริยาซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนอื่นในหนี้ที่จะแบ่งกันชำระมิได้นี้ด้วย”
พิพากษายืน