คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2212/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ขับรถมาตามถนนพหลโยธินจากสามแยกเกษตรมุ่งหน้าไปทางลาดพร้าว เมื่อถึงสี่แยกพหลโยธินตัดกับถนนรัชดาภิเษก สัญญาณไฟจราจรเป็นสีแดง จำเลยที่ 2 ได้ขับรถเคลื่อนอย่างช้า ๆ ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรสีแดงเข้าไปในสี่แยกจนเลยเส้นสีขาวที่กำหนดให้รถหยุดประมาณ 10 เมตรเกือบถึงกลางสี่แยก รถจำเลยที่ 2 จึงขวางทางรถจำเลยที่ 1 ซึ่งแล่นมาด้วยความเร็วจากถนนรัชดาภิเษกด้านถนนวิภาวดีรังสิตมุ่งหน้าไปตามถนนรัชดาภิเษกเข้าไปในสี่แยก รถจำเลยที่ 1 ห้ามล้อและหักหลบเฉี่ยวชนรถจำเลยที่ 2 แล้วเสียหลักไปทางขวาไปชนรถที่จอดรอสัญญาณไฟจราจรในถนนรัชดาภิเษกด้านที่มาจากลาดพร้าว และชนผู้เสียหาย พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ขับรถด้วยความประมาทเป็นเหตุโดยตรงทำให้รถจำเลยที่ 1 เฉี่ยวชนรถจำเลยที่ 2 และชนผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและได้รับอันตรายสาหัส

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๐, ๓๔๐, ๙๑ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๑, ๒๒, ๙๓, ๕๕, ๗๐, ๗๘, ๑๔๘, ๑๕๒, ๑๕๗, ๑๖๐
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายปิยะภัณฑ์หรือปิยะพันธ์ จินดาลัทธ ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐, ๓๙๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๑, ๒๒, ๔๓, ๗๐, ๑๔๘ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ ซึ่งเป็นบทหนัก ให้จำคุกคนละ ๔ เดือน ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ในข้อหาหลบหนีไม่หยุดช่วยเหลือและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีให้ยก
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๑, ๒๒, ๔๓, ๑๕๒, ๑๕๗ ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา มาตรา ๔๓ ประกอบมาตรา ๑๕๗ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ ให้ปรับจำเลยที่ ๒ หนึ่งพันบาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีนายบรรลือศักดิ์ ทองลอย ผู้ขับขี่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๑ ง – ๒๕๒๖ กรุงเทพมหานคร ซึ่งจอดรอสัญญาณจราจรไฟสีแดงอยู่ที่สี่แยกที่เกิดเหตุบนถนนรัชดาภิเษกด้านที่มาจากลาดพร้าว กับนายสืบพงษ์ กลิ่นสุคนธ์และนางสาวกฤษดา แก่นสาร์ ซึ่งโดยสารมากับรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๒ ขับเป็นพยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถยนต์โดยสารเคลื่อนไปช้า ๆ ฝ่าสัญญาณจราจรไฟสีแดงเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุเลยเส้นขาวที่ให้รถหยุดประมาณ ๑๐ เมตรเกือบถึงกลางสี่แยก สัญญาณไฟจราจรด้านของจำเลยที่ ๒ ถึงได้เปลี่ยนเป็นสีเขียวรถจำเลยที่ ๒ เข้าไปขวางทางรถจำเลยที่ ๑ ซึ่งแล่นเข้ามาในสี่แยกจากถนนรัชดาภิเษกด้านถนนวิภาวดีรังสิตมุ่งไปทางลาดพร้าวซึ่งขับมาด้วยความเร็ว รถจำเลยที่ ๑ ห้ามล้อและหักหลบรถจำเลยที่ ๒ ไปทางขวาเสียหลักไปชนรถที่จอดรอสัญญาณไฟจราจรในถนนรัชดาภิเษกด้านมาจากลาดพร้าว เห็นว่า พยานโจทก์ ๓ ปากนี้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะใกล้ และเบิกความยืนยันสอดคล้องกันสมเหตุสมผล ไม่มีข้อใดที่เป็นพิรุธ คำเบิกความจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ และยังได้ความจากคำเบิกความของนายสืบพงษ์ กลิ่นสุคนธ์ กับพยานโจทก์อีก ๒ ปาก คือนายทองใบ ตรีกุล กับ นายพัฒนา หงสากล ซึ่งยืนอยู่บนถนนบริเวณที่เกิดเหตุว่า รถจำเลยที่ ๑ ได้หักหลบรถจำเลยที่ ๒ แต่ไม่พ้น ด้านข้างรถจำเลยที่ ๑ ได้เฉี่ยวชนรถจำเลยที่ ๒ ทางส่วนหน้าและจำเลยที่ ๑ เบิกความว่า ได้หักหลบรถจำเลยที่ ๒ มีเสียงดังทางด้านซ้ายของรถจำเลยที่ ๑ เข้าใจว่ารถเฉี่ยวชนกับรถจำเลยที่ ๒ และเมื่อลงจากรถแล้วเห็นรถจำเลยที่ ๒ เสียหายจากการเฉี่ยวชนกับรถจำเลยที่ ๑ ที่กันชนหน้าขวา กับตัวถังรถด้านขวาตรงส่วนใต้กระจกมองข้างมีรอยสีถลอก และจำเลยที่ ๑ ได้ให้การในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.๑๔ ซึ่งให้การภายหลังเกิดเหตุ แต่ในวันเดียวกับวันเกิดเหตุนั้นเองว่า รถจำเลยที่ ๑ ด้านซ้ายค่อนมาด้านหน้ารถได้เฉี่ยวถูกบริเวณหน้ารถจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ให้การในชั้นสอบสวนหลังเกิดเหตุเพียงเล็กน้อย ยังไม่มีเวลาที่จะคิดปรุงแต่งเรื่องขึ้น คำให้การในชั้นสอบสวนในข้อนี้จึงน่าเชื่อว่าได้ให้การไปตามความจริงและในชั้นศาลจำเลยที่ ๑ ได้เบิกความยืนยันในข้อนี้อีก จึงเป็นการเจือปนกับคำพยานโจทก์ดังกล่าว นอกจากนี้โจทก์ยังมีร้อนตำรวจโทประจวบ ควรขจร ผู้ตรวจพิสูจน์รถจำเลยที่ ๒ ที่พนักงานสอบสวนส่งไปให้ตำรวจในวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๒๗ เป็นพยานว่าได้ตรวจพบรถจำเลยที่ ๒ มีการเปลี่ยนกันชนหน้าใหม่ และพ่นสีใหม่บริเวณตัวถังด้านหน้า ได้ทำรายงานการตรวจพิสูจน์ไว้ตามเอกสารหมาย จ.๑๑ และยังปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๒ ตามเอกสารหมาย จ.๑๕ ว่า รุ่งขึ้นเช้าจากวันเกิดเหตุจำเลยที่ ๒ ไปทำงานที่เขตจะขับรถตามปกติ แต่ได้รับแจ้งว่าได้ส่งรถคันที่จำเลยที่ ๒ ขับเข้าซ่อมแซมแล้ว โดยจำเลยที่ ๒ ได้ทราบจากคำบอกเล่าว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ประมาณ ๑๐ วัน มีพนักงานขับรถคนอื่นมาขับรถคันเกิดเหตุแทนจำเลยที่ ๒ ได้ขับไปเฉี่ยวชนกับรถอื่นโดยมีรอยเฉี่ยวชนที่ด้านหน้ารถค่อนไปทางซ้าย แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่ารอยซ่อมแซมรถจำเลยที่ ๒ ที่ร้อยตำรวจโทประจวบตรวจพบดังปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.๑๖ ภาพที่ ๔ อยู่ที่มุมหน้ารถด้านขวาจึงเป็นคนละแห่งกัน และตามผลการตรวจพิสูจน์ของร้อยตำรวจโทประจวบก็ไม่พบรอยซ่อมแซมรถจำเลยที่ ๒ ที่ด้านหน้าค่อนไปทางซ้ายแต่อย่างใด ฉะนั้นการซ่อมแซมรถจำเลยที่ ๒ ในวันรุ่งขึ้นจากวันเกิดเหตุจึงไม่ใช่ซ่อมแซมรอยเฉี่ยวชนที่พนักงานขับรถคนอื่นขับไปเฉี่ยวชนก่อนวันเกิดเหตุประมาณ ๑๐ วัน ดังที่จำเลยที่ ๒ ให้การไว้ในชั้นสอบสวน แต่เป็นการซ่อมแซมพ่นสีใหม่ตรงมุมหน้ารถด้านขวาและเปลี่ยนกันชนหน้าใหม่เนื่องจากถูกรถจำเลยที่ ๑ เฉี่ยวชนเอาดังคำเบิกความของพยานโจทก์ จำเลยที่ ๒ นำสืบรับว่าได้ขับรถล้ำเข้าไปจอดเลยทางม้าลายเข้าไปในสี่แยกประมาณ ๑ เมตร ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรสีแดงที่ห้ามไม่ให้ขับรถออกไปจากเส้นให้รถหยุด และตามที่จำเลยที่ ๒ นำสืบอีกว่า สัญญาณไฟจราจรด้านจำเลยที่ ๒ ได้เปลี่ยนเป็นสีเขียวแล้ว จำเลยที่ ๒ จึงได้ขับรถเข้าไปในสี่แยกได้ประมาณ ๕ เมตร ก็มีรถจำเลยที่ ๑ แล่นเข้ามาในสี่แยกจากถนนรัชดาภิเษก จำเลยที่ ๒ จึงห้ามล้อรถให้หยุดนั้น เห็นว่า หากเป็นดังที่จำเลยที่ ๒ นำสืบแล้ว รถจำเลยที่ ๑ ซึ่งแล่นเข้ามาในสี่แยกด้วยความเร็ว รถจำเลยที่ ๒ เพียงขับเข้าสี่แยกช้า ๆ ได้ประมาณ ๕ เมตรเท่านั้น ซึ่งยังไม่ถึงช่องทางที่จะขวางทางรถจำเลยที่ ๑ รถจำเลยที่ ๑ จะต้องแล่นผ่านหน้ารถจำเลยที่ ๒ ไปได้โดยสะดวกไม่จำเป็นต้องหักหลบรถจำเลยที่ ๒ จนเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนหน้ารถจำเลยที่ ๒ แล้วเสียหลักพุ่งไปชนผู้เสียหายกับรถผู้เสียหารจนเกิดเหตุเป็นคดีนี้ขึ้น และนายสุรินทร์ เฉลยโภชน์พยานจำเลยที่ ๒ เบิกความว่าได้ร้องบอกจำเลยที่ ๒ ว่า รถสองแถวมา จำเลยที่ ๒ จึงหยุดรถ รถสองแถวหักหลบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารถจำเลยที่ ๒ ได้ขับเข้าไปในสี่แยกขวางทางรถจำเลยที่ ๑ แล้ว รถจำเลยที่ ๑ ถึงต้องหักหลบเป็นการเจือสมคำพยานโจทก์อีก การที่จำเลยที่ ๒ ขับรถเข้าไปในสี่แยกขวางทางรถจำเลยที่ ๑ ในขณะที่สัญญาณไฟจราจรในเส้นทางรถ จำเลยที่ ๒ ยังเป็นไฟสีแดงอยู่ และไปขวางทางรถ จำเลยที่ ๑ จนเกิดเหตุคดีนี้ขึ้น จำเลยที่ ๒ จึงมีความประมาทในการขับรถยนต์และด้วยความประมาทของจำเลยที่ ๒ เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้รถจำเลยที่ ๑ มาเฉี่ยวชนรถจำเลยที่ ๒ แล้วเสียหลักพุ่งเข้าชนผู้เสียหายกับรถของผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายดังมีรายนามตามฟ้องได้รับอันตรายแก่กายและได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ ๒ จึงต้องมีความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและได้รับอันตรายสาหัสตามที่โจทก์ฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยที่ ๒ ฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ไม่ได้ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐, ๓๙๐ ด้วย การกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุก ๔ เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share