คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6759/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนมีหมายเลขทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7,72 วรรคสาม เท่ากับศาลชั้นต้นยกฟ้องในความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7,72 วรรคหนึ่ง ตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องเมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีโจทก์สำหรับความผิดฐานนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวอีก จำเลยฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยใช้อาวุธปืนยิง และเจ้าพนักงานยึดหัวกระสุนปืนได้จากศพผู้ตายทั้งสอง แม้จะไม่ได้อาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงผู้ตายทั้งสองมาเป็นของกลางแต่เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงปราศจากข้อสงสัย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7,72 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 371, 91, 33, 32 ริบของกลาง
ระหว่างพิจารณา นายศักดิ์ แดงโสภา บุพการีของนายชาญ แดงโสภา และนางกรรณิกา สุขศรีสันต์ ภริยาของนายประยงหรือประยงค์ สุขศรีสันต์ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยให้เรียกนายศักดิ์ แดงโสภาและนางกรรณิกา สุขศรีสันต์ ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำคุก 20 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต จำคุก 8 เดือน และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยมิได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือนรวมจำคุก 20 ปี 14 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 13 ปี 13 เดือน 10 วัน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 ทวิ วรรคสอง ให้ยกฟ้องความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7, 72 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนมีหมายเลขทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม เท่ากับศาลชั้นต้นยกฟ้องในความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง โจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีโจทก์สำหรับความผิดฐานนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวอีก แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้วยคดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์มีพันตำรวจตรีประสิทธิ์ปิยะวรรณ พนักงานสอบสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อจับกุมจำเลยได้พยานแจ้งข้อหาจำเลยว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามีอาวุธปืนในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ชั้นสอบสวนจำเลยก็ยังคงให้การรับสารภาพในข้อหาดังกล่าวและรับว่าได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้ตายทั้งสอง เพียงแต่อ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น นอกจากนี้จำเลยยังนำชี้ที่เกิดเหตุโดยแสดงท่าทางการใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองอีกทั้ง จำเลยยังเบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์โจทก์ว่าจำเลยไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืน อันเป็นการเจือสมกับคำเบิกความของพันตำรวจตรีประสิทธิ์ ทำให้คำเบิกความของพันตำรวจตรีประสิทธิ์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เมื่อพิจารณาคำเบิกความของพันตำรวจตรีประสิทธิ์ประกอบคำรับของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนและข้อเท็จจริงในคดีนี้ซึ่งรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยใช้อาวุธปืนยิง และเจ้าพนักงานที่ยึดหัวกระสุนปืนได้จากศพผู้ตายทั้งสอง แม้จะไม่ได้อาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงผู้ตายทั้งสองมาเป็นของกลาง แต่พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาก็มีน้ำหนักมั่นคงปราศจากข้อสงสัย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานไม่ได้อาวุธปืนมาเป็นของกลางจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม ให้จำคุกจำเลย 8 เดือนลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 5 เดือน 10 วัน เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานฆ่าผู้อื่นและพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะแล้ว คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 13 ปี 13 เดือน 10 วัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share