แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามหนังสือมอบอำนาจระบุข้อความว่ากรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์ได้มอบอำนาจให้ช. มีอำนาจดำเนินคดีแพ่งแทนโจทก์ในการฟ้องร้องเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยและรับช่วงสิทธินั้นเพื่อเรียกร้องเอาแก่ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายตามที่โจทก์ได้รับประกันภัยไว้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงเป็นหนังสือที่ได้มอบอำนาจให้ช.ฟ้องคดีรวมไปถึงคดีนี้ด้วยโดยแจ้งชัดแล้วช. จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ จำเลยที่3ขับรถยนต์บรรทุกชนท้ายรถสามล้อเครื่องเป็นเหตุให้รถสามล้อเครื่องกระเด็นไปชนรถยนต์ของบริษัทง. แล้วรถยนต์ดังกล่าวไปชนกับท้ายรถยนต์โดยสารดังนี้แม้เหตุเป็นเพราะลูกยางแม่ปั๊มเบรกแตกก็ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเพราะหากจำเลยที่3ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกได้ตรวจตราและดูแลรถยนต์บรรทุกประจำตามวิสัยของผู้มีอาชีพขับรถยนต์ก็ย่อมป้องกันไม่ให้ลูกยางแม่ปั๊มเบรกแตกโดยกะทันหันได้จำเลยที่3จึงกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของบริษัทง. ได้รับความเสียหาย จำเลยที่3เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของจำเลยที่1และที่2ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่1และที่2ซึ่งเป็นนายจ้างไปในทางการที่จ้างแล้วหลังจากนั้นแม้จำเลยที่3จะทุจริตขับรถยนต์ไปธุระส่วนตัวแล้วไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่นก็ตามก็เป็นเรื่องการปฏิบัติงานในหน้าที่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไม่ชอบแต่ในกรณีบุคคลภายนอกถือว่าเป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่1และที่2จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่3ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 เมื่อ 12 กรกฎาคม 2533 นายทนงศักดิ์ อาจธะขันธ์ขับรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ คันหมายเลขทะเบียน 2 ธ-2355 กรุงเทพมหานครของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด ซึ่งเอาประกันภัยไว้แก่โจทก์ไปตามถนนพระราม 4 จากสะพานลอยเบลเยี่ยมไปทางสี่แยกศาลาแดง เมื่อขับมาถึงบริเวณหน้าอาคารอื้อจีอเหลียงรถยนต์โดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ คันหมายเลขทะเบียน 10-1137 กรุงเทพมหานคร ซึ่งขับนำหน้าได้หยุดรถนายทนงศักดิ์จึงได้หยุดรถตาม ขณะนั้นมีรถสามล้อเครื่องคันหมายเลขทะเบียน 1 ส-5552 กรุงเทพมหานคร แล่นตามหลังมา และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-7395 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเอาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 4 ไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาท จำเลยที่ 3 ขับรถตามหลังรถสามล้อเครื่องคันดังกล่าวในระยะกระชั้นชิดและด้วยความเร็วสูงไม่สามารถหยุดรถได้ทัน จึงชนท้ายรถสามล้อเครื่องเป็นเหตุให้รถสามล้อเครื่องกระเด็นไปชนท้ายรถยนต์คันที่นายทนงศักดิ์ขับอย่างแรงทำให้รถยนต์คันที่นายทนงศักดิ์ขับไปชนท้ายรถยนต์โดยสารคันที่จอดอยู่ข้างหน้า รถยนต์คันที่นายทนงศักดิ์ขับเสียหายไม่สามารถซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมได้ โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด เป็นเงิน 1,290,000 บาทโจทก์จึงรับช่วงสิทธิในการเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่โจทก์ขายซากรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยดังกล่าวได้เงิน 305,500 บาทโจทก์คงเสียหายเป็นเงิน 984,500 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 กันยายน 2533จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 61,092.95 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น1,045,592.95 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงิน1,045,592.95 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ของต้นเงิน 984,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้บุคคลอื่นเช่ารถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-7395 กรุงเทพมหานครไปจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่ผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวเหตุที่เกิดขึ้นเหตุสุดวิสัยเพราะลูกยางแม่ปั๊มเบรกแตก มิใช่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ก็มิใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 และรถยนต์ที่จำเลยที่ 3 ขับชนเป็นรถยนต์ที่โจทก์ไม่ได้รับประกันภัย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2 ธ-2355 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์คันดังกล่าวมิใช่รถยนต์คันที่เกิดเหตุคดีนี้ ทั้งเหตุคดีนี้เกิดจากเหตุสุดวิสัย มิใช่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 3 ค่าเสียหายไม่ถึง 984,500 บาท ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง หากจำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดก็ไม่เกิน 250,000 บาท ตามเงื่อนไขที่รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 82-7395 กรุงเทพมหานคร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน984,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 กันยายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดจำนวน 210,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2533เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
พิพากษาศาลอุทธรณ์กลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2533 จำเลยที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-7395 กรุงเทพมหานคร ชนท้ายรถสามล้อเครื่องคันหมายเลขทะเบียน 1 ส-5552 กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้รถสามล้อเครื่องคันดังกล่าวกระเด็นไปชนท้ายรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด และด้านหน้ารถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ไปชนรถยนต์โดยสารประจำทางขององค์การขนส่งกรุงเทพคันหมายเลขทะเบียน 10-1137 กรุงเทพมหานคร จนได้รับความเสียหายตามภาพถ่ายหมาย จ.8 จริง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่ารถยนต์คันเกิดเหตุเป็นรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่คันหมายเลขทะเบียน2 ธ-2355 กรุงเทพมหานคร ตามฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อว่ารถยนต์คันเกิดเหตุเป็นรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2 ธ-2355 กรุงเทพมหานคร ตามฟ้อง
สำหรับประเด็นข้ออื่นตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้นศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน โดยมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามลำดับ ดังนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2ในประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยที่ 1และที่ 2 อุทธรณ์ว่า หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไป ว่าที่ร้อยตรีชาติชาย วังศิริไพศาลจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมายจ.2 กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์ได้มอบอำนาจให้ว่าที่ร้อยตรีชาติชายมีอำนาจดำเนินคดีแพ่งแทนโจทก์ในการฟ้องร้องเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้อง ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยและรับช่วงสิทธินั้นเพื่อเรียกร้องเอาแก่ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายตามที่โจทก์ได้รับประกันภัยไว้ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงเป็นหนังสือที่ได้มอบอำนาจให้ว่าที่ร้อยตรีชาติชายฟ้องรวมไปถึงคดีนี้ด้วยโดยแจ้งชัดแล้ว ว่าที่ร้อยตรีชาติชายจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2ในประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 ประมาทหรือไม่ ในข้อนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกชนท้ายรถสามล้อเครื่องเป็นเหตุให้รถสามล้อเครื่องกระเด็นไปชนรถยนต์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด แล้วรถยนต์ดังกล่าวไปชนกับท้ายรถยนต์โดยสาร หลังจากชนแล้วจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพจนพนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.5ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยเพราะลูกยางแม่ปั๊มเบรกแตกนั้น ไม่ใช่เป็นเหตุสุดวิสัย เพราะหากจำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกได้ตรวจตราและดูแลรถยนต์บรรทุกประจำตามวิสัยของผู้มีอาชีพขับรถยนต์ก็ย่อมป้องกันไม่ให้ลูกยางแม่ปั๊มเบรกแตกโดยกระทันหันได้ จำเลยที่ 3 จึงกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด ได้รับความเสียหาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2ในประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1และที่ 2 หรือไม่ ในข้อนี้โจทก์มีว่าที่ร้อยตรีชาติชายมาเบิกความว่า หลังเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 แจ้งแก่ว่าที่ร้อยตรีชาติชายว่าจำเลยที่ 3เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของรถยนต์บรรทุกยังได้ทำบันทึกชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจำนงค์พงษ์อารีย์ ผู้ขับขี่รถสามล้อเครื่องที่ถูกจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกชนเป็นจำนวนเงิน 25,500 บาท ตามเอกสารหมาย จ.7 ทั้งยังปรากฏตามใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกและได้เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระเบี้ยประกัน จากพยานหลักฐานดังกล่าวจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 3ขับรถยนต์บรรทุกไปเยี่ยมบุตรชายที่จังหวัดสระบุรีอันเป็นการกระทำนอกทางการที่จ้าง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดนั้นเมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1และที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างไปในทางการที่จ้างแล้ว หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 จะทุจริตขับรถยนต์ไปธุระส่วนตัวแล้วไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่นก็ตาม ก็เป็นเรื่องการปฏิบัติงานในหน้าที่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไม่ชอบแต่ในกรณีบุคคลภายนอกถือว่าเป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2ในประการสุดท้ายมีว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด ในข้อนี้รถยนต์คันเกิดเหตุเป็นรถยนต์ใหม่ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ตามภาพถ่ายรถยนต์หมาย จ.8 แล้ว เห็นว่า มีสภาพพังยับเยินยากแก่การที่จะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีได้ การที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยเต็มจำนวนตามสัญญาประกันภัยเป็นเงิน 1,290,000 บาทแล้วรับเอาซากรถยนต์มา ฟังได้ว่าเป็นการชดใช้ค่าเสียหายที่เหมาะสมและสมควรแล้ว ต่อมาโจทก์ขายซากรถยนต์คันดังกล่าวไปในราคา305,500 บาท ก็เป็นการขายที่ได้ราคาสูงมากตามสภาพของซากรถยนต์แล้ว เมื่อหักราคาที่ได้จากการขายซากตามจำนวนเงินที่ชดใช้ให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด ผู้เอาประกันภัยแล้วเหลือค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นจำนวนเงิน 984,500 บาทจึงเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่ถูกต้องแล้ว
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น