แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญา ฟ้องผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเป็นจำเลยโดยกล่าวหาว่าจำเลยแกล้งหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ โดยข่มขืนใจให้ ส.แก้ราคาหลักทรัพย์ของ ย.ผู้ขอประกันตัวโจทก์จากราคา 120,000 บาท ให้เหลือเพียง 60,000 บาทจนไม่พอประกัน กับแกล้งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาทุจริตไม่ยอมตีราคาหลักทรัพย์ของผู้ขอประกันเมื่อ 9 นาฬิกา จนเมื่อเวลาศาลจะปิดทำการแล้วจึงแจ้งแก่โจทก์ว่าหลักทรัพย์ไม่พอ ทำให้โจทก์ไม่มีโอกาสไปหาหลักทรัพย์มาเพิ่มได้ทันทำให้โจทก์ถูกขังต่อมา แต่เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยผู้ทำหน้าที่ศาลได้ตรวจดูหลักประกันตามบัญชีทรัพย์ที่ผู้ขอประกันยื่นมานั้นว่าจะเชื่อถือได้เพียงใดหรือไม่แล้วเห็นว่าตีราคาสูงกว่าราคาที่แท้จริงมากนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลเห็นว่าผู้ประกันไม่ควรตีราคาหลักประกันให้สูงผิดความจริงไปมากอันจะทำให้ศาลสิ้นความเชื่อ ถือจึงได้ให้แก้ไขเสียให้ใกล้เคียงกับราคาจริง หากจะต้องเสียเวลาไปบ้างก็เป็นการกระทำที่อยู่ในการใช้ดุลยพินิจภายในขอบอำนาจของผู้พิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเมื่อข้อเท็จตามคำบรรยายฟ้องก็ไม่มีข้อที่จะแสดงว่าจำเลยกระทำไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ชอบด้วย กฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นแต่อย่างใด ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยแกล้งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาทุจริตดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง การกระทำของจำเลยดังที่โจทก์ฟ้องจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 310 ที่โจทก์ขอให้ลงโทษที่ศาลยกฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องจึงชอบแล้ว
ฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยข่มขืนใจให้ ส.แก้ราคาหลักทรัพย์ในบัญชีทรัพย์ที่ ย.ยื่นขอประกันจำเลย บัญชีทรัพย์นี้จึงเป็นเอกสารซึ่งผู้ขอประกันทำยื่นต่อศาลหาใช่เอกสารซึ่งจำเลยมีหน้าที่ทำไม่ และจำเลยมิได้รับรองเป็นหลักฐานหรือละเว้นไม่จดข้อความอันใดลงในเอกสารนั้น จึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามมาตรา 161 และ 162
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับราชการตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ตกระทำความผิด คือ
(ก) ระหว่าง ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๖ ถึง ๑ เมษายน ๒๕๑๗ เวลากลางวัน จำเลยใช้ให้นายสุเมธบุตรชายโจทก์ทำปลอมเอกสารขึ้นบางส่วน โดยแก้ไขราคาทรัพย์ของนางยกอ่ายผู้ประกันโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๗๓/๒๕๑๕ จาก ๑๒๐,๐๐๐ บาทตามที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคนก่อนได้ตีราคาไว้ ให้เหลือเพียง ๖๐,๐๐๐ บาท โดยข่มขืนใจโจทก์และนายสุเมธให้กระทำหรือจำยอมโดยเกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อเสรีภาพ หากโจทก์และนายสุเมธไม่ยอมทำตามจำเลยอาจแกล้งไม่ให้ประกันตัวในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๕๖๓/๒๕๑๔ และ ๓๒๖/๒๕๑๕ ซึ่งโจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้งนี้โดยจำเลยบังอาจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีเจตนาทุจริตหรือมีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ดูแลนั้น หรือรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นเท็จ หรือรับรองเป็นหลักฐานว่าได้มีการแจ้งซึ่งข้อความอันมิได้มีการแจ้งหรือละเว้นไม่จดข้อความซึ่งตนมีหน้าที่ต้องรับจด หรือจดเปลี่ยนแปลงข้อความเช่นว่านั้น หรือรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริง อันเป็นเท็จเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือมีเจตนาจะหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ในคดีอาญาดำที่ ๕๖๓/๒๕๑๔ ๓๒๖/๒๕๑๕ และ ๓๑๓/๒๕๑๖ เป็นเหตุให้โจทก์ถูกกักขังในคดีดำที่ ๓๒๖/๒๕๑๕ ประมาณ ๓ วัน หากจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตโดยการข่มขืนใจโจทก์โดยใช้ให้นายสุเมธแก้ไขเอกสารทางราชการในคดีดำที่ ๒๗๓/๒๕๑๕ ให้เหลือ ๖๐,๐๐๐ บาทแล้ว หลักทรัพย์ดังกล่าวย่อมใช้ประกันตัวโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในอีก ๓ คดีนั้นได้ ทั้งนี้โดยการแกล้งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือคู่ความของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
(ข) เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๑๗ เวลา ๙ นาฬิกา โจทก์ได้ยื่นประกันตัวในคดีดำที่ ๔๐๒/๒๕๑๖ ซึ่งโจทกถูกฟ้องเป็นจำเลย โดยมีนายประกันนำโฉนดราคาประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ยื่นประกันตัวโจทก์จำเลยแกล้งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาทุจริตไม่ยอมตีราคาโฉนด แกล้งหน่วงเหนี่ยวไม่ให้โจทก์ได้มีประกันตัว จนเวลา ๑๖ นาฬิกาจะปิดศาลแล้ว จำเลยจึงแจ้งแก่โจทก์ว่าหลักทรัพย์ไม่พอ หากจำเลยไม่แกล้งหน่วงเหนี่ยวก็ควรแจ้งให้โจทก์ทราบก่อนเพื่อโจทก์ไปหาหลักทรัพย์มาเพิ่มได้ทัน เพื่อจะได้ไม่ถูกกักขังในวันที่ ๙ และ ๑๐ ซึ่งหยุดราชการ ทั้งนี้โดยจำเลยมีเจตนาแกล้งหน่วงเหนี่ยวโจทก์ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ทำให้โจทก์ถูกกักขังอยู่ ๑๖ วันจึงได้ประกันตัวออกมาโดยจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาทุจริต เพื่อแกล้งหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์แกล้งเรียกร้องราคาทรัพย์ให้สูงเกินจำเป็น และแกล้งตีราคาทรัพย์ของนายประกันให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
(ค) ระหว่างวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๑๗ ถึง ๙ เมษายน ๒๕๑๗ เวลาใดไม่ปรากฏชัด ปรากฏว่าเอกสารราคารทรัพย์ตามฟ้องข้อ (ก) ได้มีรอยแก้จาก ๖๐,๐๐๐ บาท กลับมาเป็น ๑๒๐,๐๐๐ บาทอีก เอกสารดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย โดยจำเลยได้บังอาจแก้ปลอมเอกสารราชการ
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๓๐๙, ๓๑๐, ๑๖๑, ๑๖๒, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๒๖๗, ๒๖๘, ๘๓, ๘๔
ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องและมีคำสั่งให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
เกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙ นั้นโจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่าจำเลยข่มขืนใจใช้ให้นายสุเมธ จันทร์ตระกูล แก้บัญชีทรัพย์ของนางยกอาย ลิมปานนท์ ผู้ขอประกันตัวโจทก์ จากราคา ๑๒๐,๐๐๐ บาทให้เหลือเพียง ๖๐,๐๐๐ บาท โดยทำให้นายสุเมธกลัวว่าถ้าไม่ยอมทำตามจำเลยอาจไม่ให้โจทก์ได้ประกันตัว ดังนี้ผู้ที่ถูกจำเลยข่มขืนใจให้แก้ราคาทรัพย์นั้นคือนายสุเมธ หาใช่ตัวโจทก์เองไม่ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายที่จะฟ้องคดีข้อหานี้ได้
ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๐ นั้นโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยแกล้งหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์โดยข่มขืนใจใช้นายสุเมธแก้ราคาหลักทรัพย์ให้น้อยลงจน ไม่พอประกันกับแกล้งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาทุจริตแจ้งแก่โจทก์เมื่อเวลาศาลจะปิดทำการแล้ว ทำให้โจทก์ไม่มีโอกาสไปหาหลักทรัพย์มาเพิ่มได้ทัน ทำให้โจทก์ถูกกักขังต่อมาศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่ออ่านคำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยผู้ทำหน้าที่ศาลได้ตรวจดูหลักประกันตามบัญชีทรัพย์ที่ผู้ขอประกันยื่นมานั้นว่าจะเชื่อถือได้เพียงใดหรือไม่ แล้วเห็นว่าตีราคาหลักประกันสูงกว่าราคาที่แท้จริงมากนัก เป็นเรื่องที่ศาลเห็นว่าผู้ประกันไม่ควรตีราคาหลักประกันสูงผิดความจริงไม่มากนัก เป็นเรื่องที่ศาลเห็นว่าผู้ประกันไม่ควรตีราคาหลักประกันให้สูงผิดความจริงไปมาก อันจะทำให้ศาลสิ้นความเชื่อถือจึงได้ให้แก้ไขเสียให้ใกล้เคียงกับราคาจริง หากจะต้องเสียเวลาไปบ้างก็เป็นการกระทำที่อยู่ในการใช้ดุลยพินิจภายในขอบอำนาจของผู้พิพากษาตามพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรมและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ก็ไม่มีข้อที่จะแสดงว่าจำเลยกระทำไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยเองหรือผู้อื่นแต่อย่างใด ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยแกล้งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาทุจริตดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง
เกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ นั้น คำบรรยายฟ้องของโจทก์มุ่งกล่าวหาว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่มีข้อที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำไปโดยทุจริตดังได้วินิจฉัยไว้แล้ว การกระทำของจำเลยย่อมไม่อาจเป็นความผิดฐานนี้ได้
สำหรับข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๑ และ ๑๖๒ ตามฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยข่มขืนใจใช้ให้นายสุเมธแก้ราคาหลักทรัพย์ในบัญชีทรัพย์ที่นางยกอ่ายยื่นขอประกันจำเลย บัญชีทรัพย์นี้เป็นเอกสารซึ่งผู้ขอประกันทำยื่นต่อศาลหาใช่เอกสารซึ่งจำเลยมีหน้าที่ทำไม่และจำเลยมิได้รับรองเป็นหลักฐานหรือละเว้นไม่จดข้อความอันใดลงในเอกสารนั้นจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามข้อหาที่กล่าวนี้
ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ ถึงมาตรา ๒๖๘ คือการแก้ราคาหลักทรัพย์จาก ๖๐,๐๐๐ บาทกลับมาเป็น ๑๒๐,๐๐๐ บาทอีกนั้น คำฟ้องอ้างเพียงว่าเอกสารนี้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย จึงเป็นการกระทำของจำเลยเองข้อความเช่นนี้แสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์คาดคิดหรือสันนิษฐานเอาเท่านั้น มิได้ยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้กระทำจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘
สรุปแล้วเห็นว่า ฟ้องของโจทก์ไม่มีมูลเป็นความผิดดังที่โจทก์กล่าวหาและเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่ศาลล่างยกฟ้องโดยไม่ไต่ส่วนมูลฟ้องนั้นชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน