คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลมีอำนาจตรวจคำคู่ความเช่นคำให้การจำเลยได้ถ้ามีข้อความที่กล่าวไว้โดยไม่เกี่ยวกับประเด็น ศาลสั่งไม่รับข้อความนั้นได้

ย่อยาว

คดีปรากฏว่า จำเลยจ้างโจทก์รับเหมารื้อเรือนเก่าของจำเลยที่ซอยสายน้ำผึ้งไปปลูกตามแบบแปลนใหม่ที่ตำบลพญาไท เหมาค่าแรงงานทั้งสิ้น 25,000 บาท แบ่งจ่ายเป็น 6 งวด ตามงานกระทำไปเป็นระยะที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาลงวันที่ 18 เมษายน 2495 งวดที่ 1 ถึง 3 เสร็จ โจทก์รับค่าจ้างไปแล้ว เกิดเถียงกันในงานงวดที่ 4

โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่า ทำงานงวดที่ 4 เสร็จ จำเลยจ่ายให้เพียง 1,000 บาท ยังค้างอีก 4,000 บาท โจทก์ทวงถาม จำเลยกลับให้ทำงานระยะที่ 5 ต่อไปก่อน โจทก์ไม่ยอม จำเลยก็บอกเลิกสัญญาและไล่คนงานออกจากบริเวณที่ทำงาน ต่อมาจำเลยกับหลวงประกอบนิติสารทนายของจำเลยกลับตั้งรูปคดีและข้อกล่าวหาใหม่ว่า โจทก์ทำการก่อสร้างผิดแบบแปลน จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้จำเลยใช้เงินค่าค้างงวดที่ 4 4,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเท่ากัน รวมเป็น 8,000 บาท

จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ทำการงานในงวดที่ 4 ผิดแบบแปลนตามสัญญาจำเลยทักท้วงก็ไม่ฟัง โต้เถียงกัน โจทก์ก็หยุดทำการไปเองจำเลยจึงไม่ยอมจ่ายค่าจ้างงวดที่ 4 ให้เต็มตามสัญญา จำเลยหาได้บอกเลิกสัญญาและไปไล่คนงานโจทก์ไม่ จำเลยกลับขอฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ 25,790 บาทด้วย

ส่วนข้อที่โจทก์ว่า หลวงประกอบฯ ตั้งรูปคดีกล่าวหาโจทก์ใหม่นั้น เป็นเพราะนายเปลี่ยน ลีละศรทนายโจทก์ ไม่พอใจหลวงประกอบฯ มาก่อน จึงแกล้งกล่าวปรักปรำ แล้วจำเลยก็พรรณนาข้อความเกี่ยวกับความประพฤติอันไม่ดีของนายเปลี่ยนฯ แต่อดีตอีกมาก ซึ่งศาลแพ่งสั่งไม่รับตามที่วงเล็บและขีดเส้นใต้ไว้ในข้อ 4 วรรคสามและสี่

จำเลยอุทธรณ์คัดค้านศาลแพ่งที่สั่งไม่รับนั้น

ศาลอุทธรณ์ปรึกษาเห็นพ้องด้วยคำสั่งศาลชั้นต้น เพราะข้อความตอนนั้นเป็นแต่กล่าวพรรณนาถึงความประพฤติอันไม่ดีในอดีตของทนายโจทก์ ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดี โจทก์หาว่าจำเลยทำผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย แม้โจทก์จะกล่าวในฟ้องตอนหนึ่งว่า จำเลยและทนายจำเลยตั้งรูปคดีข้อกล่าวหาใหม่ว่า โจทก์ทำการก่อสร้างผิดจากแบบแปลนก็เป็นข้อที่แสดงว่า จำเลยไม่ยอมรับว่าจำเลยผิดสัญญา แต่กลับหาว่าโจทก์ผิดสัญญาเท่านั้น จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องกล่าวพรรณนาถึงความประพฤติอันไม่ดีในอดีตของทนายโจทก์มาในคำให้การไม่ทำให้เกิดเป็นประเด็นในคดี ทั้งก็ไม่เป็นข้อที่จำเลยจะนำสืบในคดีได้ด้วย จึงให้ยกอุทธรณ์จำเลยเสีย

จำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกเหตุผลบรรยายไว้ในข้อ 3 เป็นความ 4 ข้อ มีใจความดังต่อไปนี้

1. ข้อความที่ศาลแพ่งไม่ยอมรับนั้นอยู่ในตอนคำให้การ ไม่ใช่ในตอนฟ้องแย้ง และเป็นคำให้การต่อสู้โดยตรง

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อนี้ศาลแพ่งก็พิเคราะห์สั่งไม่รับเป็นคำให้การตรงกันอยู่แล้ว และก็เป็นเรื่องอยู่ในอำนาจศาลจะตรวจคำคู่ความได้

ส่วนที่กล่าวเป็นคำให้การต่อสู้โดยตรงนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า การพรรณนาความไม่ดีในอดีตของทนายโจทก์นั้นไม่เกี่ยวข้องในประเด็นที่นำสืบอย่างไร ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ตีความหมายในข้อที่คำฟ้องว่า “ทนายจำเลยตั้งรูปคดีข้อกล่าวหาใหม่ฯ” นั้นก็อธิบายไว้เป็นการสมเหตุสมผลชอบแล้วไม่ถึงขนาดแกล้งกล่าวปรักปรำ

2. ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องหลวงประกอบฯ ยังเป็นบุคคลภายนอกคดีอยู่ เมื่อศาลแพ่งรับคำพรรณนาฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับหลวงประกอบฯ ได้เข้าเป็นทนายจำเลยในระยะต่อมา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(11) คู่ความย่อมหมายถึงทนายผู้ว่าต่างหรือแก้ต่างตัวความด้วย เช่นนี้จำเลยควรมีสิทธิกล่าวแก้ได้

ข้อนี้ก็ถูกแต่ต้องกล่าวแก้ตามประเด็นในคดีทนายความซึ่งคู่ความแต่งตั้งนั้น มีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนคู่ความได้ ตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะ 3 เป็นอาทิ แต่ก็มิได้หมายความให้เกินเลยไปจนถึงว่าให้คู่ความหรือตัวความมีสิทธิกล่าวแก้แทนทนายในเรื่องของทนายของตน ดังที่กล่าวในฎีกานี้ตอนหนึ่งว่า “ทนายโจทก์จึงอาฆาตทนายจำเลย และแกล้งกล่าวหาทนายจำเลยในคดีนี้” อันเป็นการส่อแสดงว่า หยิบยกเอาเรื่องของทนายมาเอ่ยไม่เกี่ยวกับประเด็นว่าฝ่ายใดกระทำผิดสัญญาในเรื่องปลูกสร้างเรือนดังที่ต่างฝ่ายได้ตั้งประเด็นกันไว้แล้วนั้นอย่างไรเลย

ฎีกาข้อ 3 และ 4 มีใจความยืนยันว่าจำเลยมีสิทธิจะพรรณนาได้เช่นนั้นเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การถึงข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับประเด็นเป็นเรื่องอยู่ในประเด็นซึ่งก็ซ้ำ ๆ กับข้อที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นนั้นแล้วว่า ไม่เกี่ยวข้องในประเด็นที่จะนำสืบได้

จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ยกฎีกาของจำเลย ค่าธรรมเนียมค่าทนายชั้นนี้ให้เป็นพับไป

Share