คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2212/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตำรวจจับกุมและนำผู้ต้องหาพร้อมไม้ของกลางมาที่สถานีตำรวจและมอบให้แก่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน แต่จำเลยไม่ดำเนินการต่อไปตามหน้าที่ โดยเห็นว่านายอำเภอจะเอาไม้ไปทำฝายกั้นน้ำเพื่อสาธารณประโยชน์ จึงปล่อยตัวผู้ต้องหาและของกลางไป จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200
จำเลยกระทำความผิดเพราะเกรงใจเพื่อนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ในท้องที่เดียวกันขอร้องนำไม้ไปทำฝายเพื่อสาธารณประโยชน์และได้ความว่าไม้รายนี้ได้ทำฝายไปหมดแล้ว การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง จำเลยรับราชการมาใกล้จะครบเกษียณอายุโดยไม่ปรากฏว่าเคยกระทำผิดมาก่อน ศาลรอการลงโทษให้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ายังมิได้มีการส่งมอบตัวผู้ต้องหาพร้อมบันทึกการจับกุมและไม้ของกลางให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,200 วรรคหนึ่งลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 1 ปี และปรับ 3,000 บาทให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์อ้างว่าวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตรวจจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางนำมามอบให้แก่จำเลยแล้วจำเลยปล่อยผู้ต้องหาและของกลางดังกล่าวไป แต่จำเลยต่อสู้ว่าวันเกิดเหตุตามที่โจทก์อ้างไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนใดจับกุมผู้ต้องหาและของกลางมามอบให้จำเลย ปัญหาวินิจฉัยเบื้องต้นจึงมีว่า มีการจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางนำมาที่สถานีตำรวจในวันเกิดเหตุหรือไม่ โจทก์มีจ่าสิบตำรวจฉลวย เถื่อนกลาง พลตำรวจบุญรอด โฮ้ไทยและพลตำรวจณรงค์ชัย โสภณ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับกุมนายประเสริฐ ฉิมมาหาเป็นพยานเบิกความต้องกันว่า วันเกิดเหตุคือวันที่ 6 พฤษภาคม 2521ได้จับกุมตัวนายประเสริฐ ฉิมมาหา ในข้อหามีไม้เสาเข็มสะเดาปักอันเป็นไม้หวงห้ามที่ยังมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่รับอนุญาตแล้วนำนายประเสริฐผู้ต้องหาพร้อมไม้และรถยนต์ที่บรรทุกไม้ของกลางมายังสถานีตำรวจภูธรอำเภอสว่างอารมณ์เพื่อส่งมอบให้พนักงานสอบสวนโดยพลตำรวจณรงค์ชัยเบิกความว่าตนได้ทำบันทึกการจับกุมไม้รายนี้ขึ้นรวมสองฉบับ ฉบับหนึ่งนายประเสริฐลงลายมือชื่อผิดช่องคือลงในช่องพยานแทนที่จะลงในช่องผู้ต้องหา ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 ส่วนอีกฉบับหนึ่งได้มอบให้จ่าสิบตำรวจฉลวยเป็นผู้เก็บรักษา และโจทก์ยังมีนายหลอม แก้วมณีผู้ที่โดยสารมากับรถยนต์บรรทุกไม้ของกลาง จ่าสิบตำรวจอึ้น ไข่ทอง พลตำรวจประสาน แสนเตบิน และนายดาบตำรวจสนิท ผดุงฉัตร เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ที่สถานีตำรวจและทำหน้าที่สิบเวรรู้เห็นการที่จ่าสิบตำรวจฉลวยกับพวกควบคุมตัวนายประเสริฐผู้ต้องหาพร้อมไม้และรถยนต์ที่บรรทุกไม้ของกลางมาที่สถานีตำรวจในวันเกิดเหตุเป็นพยานสนับสนุนนายประเสริฐผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมซึ่งเป็นพยานโจทก์คดีนี้ก็เบิกความยอมรับถึงการที่ถูกจ่าสิบตำรวจฉลวยกับพวกจับกุมและพามาที่สถานีตำรวจ แต่นายประเสริฐเบี่ยงบ่ายอ้างว่าวันเกิดเหตุเป็นวันที่ 16 พฤษภาคม 2521ไม่ใช่วันที่ 6 พฤษภาคม 2521 และไม่พบจำเลยที่สถานีตำรวจ ปรากฏว่าข้อเบี่ยงบ่ายดังกล่าวแตกต่างจากที่นายประเสริฐเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนที่ว่า เมื่อมาถึงสถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมได้ส่งตัวนายประเสริฐพร้อมของกลางให้แก่จำเลย โดยวันเกิดเหตุเป็นวันที่ 6 พฤษภาคม 2521และจำเลยได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวโดยมีนายเทียม นาคขาวนายอำเภอสว่างอารมณ์ร่วมอยู่ด้วย แล้วจำเลยเป็นผู้อนุญาตให้นำรถยนต์บรรทุกไม้ไปได้ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 นายประเสริฐโต้เถียงอ้างว่าพนักงานสอบสวนให้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าแล้วเขียนข้อความขึ้นเองโดยมิได้สอบถามปากคำ เห็นว่า พันตำรวจโทสำราญ เวชชบุษกร เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อนไม่มีสาเหตุที่จะแกล้งปรักปรำใส่ร้ายจำเลยและนอกจากการสอบสวนปากคำนายประเสริฐตามเอกสารหมาย จ.9 แล้ว ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนยังให้นายประเสริฐลงลายมือชื่อตัวอย่างเป็นจำนวนมากเพื่อส่งไปพิสูจน์เปรียบเทียบกับลายมือชื่อนายประเสริฐในเอกสารหมาย จ.1 ดังปรากฏตามเอกสารหมายจ.10 แต่ตามคำร้องเรียนของนายประเสริฐที่กล่าวหาว่าจำเลยถูกใส่ร้ายโดยไม่เป็นธรรมตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น นายประเสริฐอ้างว่าพนักงานสอบสวนให้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่ารวมสามแผ่นแผ่นละหนึ่งชื่ออันเป็นการขัดแย้งกับเอกสารหมาย จ.10 ดังนั้นข้อที่อ้างว่าพนักงานสอบสวนให้นายประเสริฐลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าแล้วเขียนข้อความขึ้นเองโดยมิได้สอบถามปากคำนายประเสริฐ จึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือ และจำเลยก็นำสืบยอมรับว่าในวันที่ 6 พฤษภาคม 2521 จำเลยเข้าเวรทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจ ส่วนวันที่ 16 พฤษภาคม 2521 เป็นบุคคลอื่นมิใช่จำเลยที่เข้าเวรพนักงานสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นอันเชื่อได้ว่าวันเกิดเหตุคือวันที่ 6 พฤษภาคม 2521 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมนายประเสริฐพร้อมไม้หวงห้ามที่ยังมิได้แปรรูปและรถยนต์ที่บรรทุกไม้ดังกล่าวเป็นของกลางแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวนายประเสริฐพร้อมของกลางมาที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสว่างอารมณ์อันเป็นท้องที่เกิดเหตุ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าเบิกความของจ่าสิบตำรวจฉลวยที่ระบุถึงพลตำรวจประสาน แสนเตบิน ว่าเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมจับกุมตัวนายประเสริฐผู้ต้องหาขัดแย้งกับคำเบิกความของพลตำรวจประสานแสนเตบิน ที่ระบุว่าวันเกิดเหตุตนอยู่ที่สถานีตำรวจเห็นจ่าสิบตำรวจฉลวยกับพวกจับกุมตัวนายประเสริฐพร้อมรถยนต์ที่บรรทุกไม้เสาเข็มเต็มคันรถมาที่สถานีตำรวจ จึงรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจฉลวยที่เกี่ยวกับพลตำรวจประสาน แสนเตบิน ผิดพลาดคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อย ทั้งเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด ไม่ถึงกับทำให้น้ำหนักการรับฟังคำพยานโจทก์ในเรื่องนี้เสียไป ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมได้นำตัวนายประเสริฐผู้ต้องหาพร้อมไม้และรถยนต์บรรทุกของกลางส่งมอบให้แก่จำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อนำตัวนายประเสริฐผู้ต้องหาพร้อมของกลางมาถึงสถานีตำรวจพลตำรวจณรงค์ชัยได้แยกไปทำธุระที่อื่น ผู้ที่อยู่ดำเนินการคือจ่าสิบตำรวจฉลวยและพลตำรวจบุญรอดซึ่งต่างเบิกความว่า พบนายเทียม นาคขาว นายอำเภอสว่างอารมณ์อยู่กับจำเลยที่สถานีตำรวจ นายเทียมเขามาพูดว่าจะนำไม้ดังกล่าวไปทำฝายกั้นน้ำเพื่อสาธารณประโยชน์และได้ขออนุญาตจำเลยไว้ก่อนแล้ว ซึ่งขณะนั้นจำเลยนั่งฟังเฉย ๆ ไม่ได้พูดจาอะไร หลังจากนั้นคนขับรถก็ขับรถยนต์บรรทุกไม้ออกไป โดยยังไม่มีการมอบตัวผู้ต้องหาและไม้ของกลางให้แก่จำเลย คำเบิกความของจ่าสิบตำรวจฉลวยและพลตำรวจบุญรอดดังกล่าวมิได้ยืนยันถึงการกระทำความผิดของจำเลย ซึ่งแตกต่างจากที่บุคคลทั้งสองเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน ศาลฎีกาเห็นว่าในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงแห่งคดีนั้น ศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงในสำนวนว่าควรฟังได้เพียงใดหรือไม่มิใช่ว่าพยานเบิกความอย่างไรแล้วจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานเสมอไป และไม่มีกฎหมายบทใดบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของพยานเป็นข้อประกอบการพิจารณาของศาล ส่วนจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่นั้น ก็สุดแล้วแต่เหตุผลเป็นเรื่อง ๆ ไป ดังที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3219/2516 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี โจทก์นายทวี พงษ์เถื่อน จำเลย สำหรับคดีนี้ปรากฏว่าในชั้นสอบสวนจ่าสิบตำรวจฉลวยและพลตำรวจบุญรอดได้ให้การยืนยันต่อพนักงานสอบสวนว่า มีการทำบันทึกการจับกุมผู้ต้องหารายนี้รวมสองฉบับรายละเอียดตรงตามคำเบิกความของพลตำรวจณรงค์ชัยพยานโจทก์ดังกล่าวข้างต้น และได้มอบตัวนายประเสริฐผู้ต้องหาพร้อมไม้และรถยนต์ที่บรรทุกไม้ของกลางรวมทั้งบันทึกการจับกุมอีกฉบับหนึ่ง (ไม่ใช่บันทึกการจับกุมฉบับเอกสารหมาย จ.1) ให้แก่จำเลยแล้วจำเลยกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมว่าไม้รายนี้เป็นของนายอำเภอสว่างอารมณ์จะเอาไปทำฝายกั้นน้ำซึ่งขณะนั้นนายเทียม นาคขาว นายอำเภอสว่างอารมณ์ก็อยู่ด้วย จำเลยพูดเกลี้ยกล่อมให้ปล่อยผู้ต้องหารายนี้ ประมาณ 30 นาทีจากนั้นจำเลยก็ปล่อยตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางทั้งหมดไป ดังคำให้การชั้นสอบสวนของบุคคลทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.6 นอกจากนี้จ่าสิบตำรวจฉลวยและพลตำรวจบุญรอดยังนำชี้แสดงสถานที่ที่นำตัวผู้ต้องหารายนี้พร้อมของกลางมามอบให้แก่จำเลยและจำเลยพูดเกลี้ยกล่อมดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนทำแผนที่สังเขปไว้ตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งจ่าสิบตำรวจฉลวยเบิกความยืนยันว่าแผนที่สังเขปที่ว่านี้เป็นความจริงทุกประการ นายหลอมพลตำรวจประสาน จ่าสิบตำรวจอึ้นและนายดาบตำรวจสนิทพยานโจทก์ต่างก็ยืนยันว่าเห็นจำเลยอยู่กับนายเทียม นายอำเภอสว่างอารมณ์ที่สถานีตำรวจในวันเกิดเหตุ ส่วนที่พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความแตกต่างกันไปบ้างเกี่ยวกับกิริยาท่าทางของจำเลย อาจเป็นเพราะมิใช่เป็นการเห็นจำเลยในขณะเดียวกันจึงมิใช่เป็นการขัดแย้งกันดังข้อฎีกาของจำเลย ประกอบกับพลตำรวจประสานและจ่าสิบตำรวจอึ้นยังเห็นและได้ยินจำเลยพูดจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมผู้ต้องหารายนี้ต่อหน้านายเทียมและนายอำเภอสว่างอารมณ์ หลังจากนั้นก็มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาและรถยนต์บรรทุกไม้ของกลาง พฤติการณ์ตามคำพยานโจทก์เท่าที่กล่าวมานี้เป็นพยานแวดล้อมสนับสนุนคำให้การชั้นสอบสวนของจ่าสิบตำรวจฉลวยและพลตำรวจบุญรอดให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น และการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมนำตัวประเสริฐผู้ต้องหาพร้อมของกลางมาที่สถานีตำรวจก็เพื่อส่งมอบให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ดังนั้นเมื่อมาพบจำเลยซึ่งเข้าเวรเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจ จึงไม่มีเหตุผลอย่างใดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมจะไม่ส่งมอบผู้ต้องหาพร้อมของกลางให้แก่จำเลย ที่จำเลยอ้างว่าจ่าสิบตำรวจฉลวยและพลตำรวจบุญรอดมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยก็ได้ความว่าจ่าสิบตำรวจฉลวยและพลตำรวจบุญรอดเพียงแต่ไม่พอใจในการที่จำเลยเคร่งครัดต่อระเบียบวินัยมิใช่โกรธเคืองจำเลยเป็นส่วนตัวดังจะเห็นได้จากคำเบิกความของบุคคลทั้งสองซึ่งนอกจากมิได้ซ้ำเติมจำเลยแล้วยังช่วยปัดเป่าความผิดให้แก่จำเลย สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า ข้อนำสืบของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังได้ว่าวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมได้นำตัวนายประเสริฐผู้ต้องหาพร้อมของกลางมาที่สถานีตำรวจ และมอบให้แก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยกลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการต่อไปตามหน้าที่โดยจำเลยเห็นว่าไม้ดังกล่าวนายอำเภอสว่างอารมณ์จะเอาไปทำฝายกั้นน้ำเพื่อสาธารณประโยชน์ จึงปล่อยตัวผู้ต้องหาและไม้ของกลางให้พ้นจากความรับผิดชอบของจำเลย อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมตำรวจ และเป็นการกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง

ส่วนฎีกาโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักและมิให้รอการลงโทษจำเลยนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มูลเหตุที่ทำให้จำเลยกระทำความผิดครั้งนี้เกิดจากความเกรงใจที่เพื่อนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งรับราชการอยู่ในท้องที่เดียวกันขอร้องโดยจะนำไม้รายนี้ไปทำฝายกั้นน้ำเพื่อสาธารณประโยชน์และตามคำพนักงานสอบสวนก็ได้ความว่ามีการนำไม้ของกลางรายนี้ไปทำฝายกั้นน้ำดังกล่าวหมดสิ้นแล้ว การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง และนายประเสริฐ ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมก็มิใช่ตัวการสำคัญ ประกอบกับจำเลยรับราชการมาใกล้จะครบกำหนดเกษียณอายุราชการโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำผิดมาก่อน กรณีมีเหตุสมควรปรานีแก่จำเลยเพื่อให้โอกาสจำเลยได้ประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป

ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยและรอการลงโทษมานั้นเป็นการเหมาะสมแก่สภาพความผิดของจำเลยแล้ว ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรที่จะแก้ไข”

พิพากษายืน

Share