แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่ลูกจ้างขาดงานเป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน จะเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุสมควรหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงเหตุที่ทำให้ลูกจ้างนั้นไม่ได้มาทำงานว่ามีเหตุสมควรหรือไม่ เพียงใดไม่ใช่ว่าเมื่อลูกจ้างไม่มาทำงานโดยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเรื่องการลาแล้ว จะเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุสมควรเสมอไป โจทก์ละทิ้งหน้าที่เกิน 3 วันทำงานติดต่อกันเนื่องจากไปรับราชการทหารตามกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำครั้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2529 โจทก์ได้ไปรับการตรวจเลือกและได้รับการคัดเลือกให้เป็นทหารประจำการตามกฎหมายเป็นเวลา 2 ปีตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 จำเลยได้อนุญาตให้โจทก์ลาไปรับราชการทหารได้ ต่อมาเมื่อโจทก์ถูกปลดจากการเป็นทหารประจำการแล้ว ได้กลับมารายงานตัวเพื่อทำงานต่อไปจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า อันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิมโดยนับเวลาทำงานต่อเนื่องกัน หากจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานไม่ได้ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินสะสม กับค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2529 เนื่องจากโจทก์ได้ขาดงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2529 เป็นเวลาเกินกว่า3 วัน โดยมิได้ยื่นใบลาและแจ้งเหตุให้จำเลยทราบว่า โจทก์ถูกเกณฑ์ทหาร อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยชอบมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หรือเรียกร้องค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายใด ๆ ขอให้ยกฟ้องศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 9,030 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่6 พฤศจิกายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าตามระเบียบปฏิบัติสำหรับพนักงานของจำเลย ข้อ 3 ว่าด้วยการลา ข้อ 3.5 ระบุว่า การลากิจในทุกกรณีให้ส่งใบลากิจก่อนลาทุกครั้ง มิฉะนั้นจะถือเป็นการขาดงาน ใบลาทุกใบจะต้องนำส่งด้วยตนเองผ่านหัวหน้าแผนกที่พนักงานสังกัดอยู่โดยอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นและฝ่ายบุคคลและตามระเบียบดังกล่าวว่าด้วยการขาดงานข้อ 4.2 ระบุว่า การขาดงาน 3 วันติดต่อกันในทุกกรณีจะขาดสภาพจากการเป็นพนักงานของบริษัทจำเลยทันที โจทก์ไม่ได้ลาจำเลยไปรับราชการทหาร โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปอันเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยโดยชัดแจ้ง ถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4)จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จะถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุสมควรหรือไม่ จะต้องพิจารณาถึงเหตุที่ทำให้ลูกจ้างนั้นไม่ได้มาทำงานว่ามีเหตุสมควรหรือไม่เพียงใด มิใช่ว่า เมื่อลูกจ้างไม่มาทำงานโดยไม่ส่งใบลากิจและไม่ได้รับอนุมัติให้ลาได้ อันเป็นการกระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว จะเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุสมควรเสมอไปคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปเนื่องจากโจทก์ต้องไปรับราชการทหารตามกฎหมาย อันเป็นเหตุที่ทำให้โจทก์ไม่ได้มาทำงาน การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย”
พิพากษายืน