คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กับสหภาพแรงงานมีข้อขัดแย้งซึ่งตกลงกันไม่ได้กรมแรงงานได้รับเรื่องข้อขัดแย้งดังกล่าวส่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณา คำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ชี้ขาดให้โจทก์ปรับปรุงอัตราค่าจ้างลำดับต่ำสุดถึงลำดับอื่น ๆ เป็นการชี้ขาดไปตามข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ จึงมีอำนาจชี้ขาดได้ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ เพราะหาได้ชี้ขาดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่และคำชี้ขาดไม่ขัดกับประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวที่กำหนดให้ปรับอัตราค่าจ้างเฉพาะขั้นต่ำเป็นวันละ 45 บาท โดยมิได้กำหนดให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นอื่น ๆ ด้วยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงมีอำนาจชี้ขาดได้
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มิได้ให้ความหมายของคำว่า’สวัสดิการ’ ไว้ จึงต้องถือตามความหมายทั่วไป ซึ่งหมายความถึงการให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ การที่โรงงานสุรานายจ้างจำหน่ายสุราให้ลูกจ้างในราคาต่ำกว่าราคาที่จำหน่ายทั่วไป ย่อมเป็นการอนุเคราะห์ช่วยเหลือลูกจ้างอย่างหนึ่ง จึงเป็นสวัสดิการซึ่งเป็นสภาพการจ้างตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ ข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในเรื่องนี้เป็นข้อพิพาทแรงงานคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจชี้ขาดได้เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมในกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 2ถึงที่ 12 เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาทแรงงาน จำเลยที่ 1 ส่งข้อพิพาทแรงงานอันเป็นข้อขัดแย้งระหว่างสหภาพแรงงานซึ่งเป็นองค์การของลูกจ้างโจทก์ กับโจทก์ ไปให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาด คณะกรรมการดังกล่าวได้ร่วมกันชี้ขาดหลายข้อ แต่โจทก์เห็นว่าคำชี้ขาด 3 ข้อ ต่อไปนี้เป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบ กล่าวคือ (1) ให้โจทก์ปรับปรุงอัตราค่าจ้างรายวันตั้งแต่ลำดับที่ 1 อันเป็นลำดับต่ำสุดถึงลำดับที่ 8 อัตราค่าจ้างรายเดือนตั้งแต่ลำดับที่ 1 อันเป็นลำดับต่ำสุดถึงลำดับที่ 9 นอกนั้นให้เป็นไปตามเดิม (2) ให้โจทก์จ่ายเงินค่าชดเชยให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 หมวด 5 และ (3)ให้โจทก์จำหน่ายสุราสวัสดิการแก่พนักงานและคนงานในราคาเท่ากับที่จำหน่ายให้แก่สวัสดิการทหาร โดยโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีอำนาจชี้ขาดข้อพิพาท 3 ข้อนั้น ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าว

จำเลยทุกคนให้การว่า คำชี้ขาดทั้ง 3 ข้อ เป็นคำชี้ขาดโดยชอบ จำเลยที่ 2ถึงจำเลยที่ 12 มีอำนาจชี้ขาด ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ก่อนสืบพยาน โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และขอถอนฟ้องเรื่องคำชี้ขาดค่าชดเชย ศาลแรงงานกลางอนุญาต

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์กับสหภาพแรงงานซึ่งเป็นองค์การของลูกจ้างโจทก์ มีข้อขัดแย้งซึ่งตกลงกันไม่ได้หลายประการ กรมแรงงานได้รับเรื่องข้อขัดแย้งดังกล่าวส่งให้คณะบุคคลผู้มีอำนาจชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 25ซึ่งประกอบด้วยจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 12 พิจารณาชี้ขาดหลายประการ เฉพาะที่มีปัญหาในคดีนี้ คือคำชี้ขาดข้อ 1 ให้โจทก์ปรับปรุงอัตราค่าจ้างรายวันตั้งแต่ลำดับที่ 1 อันเป็นลำดับต่ำสุดถึงลำดับที่ 8 อัตราค่าจ้างรายเดือนตั้งแต่ลำดับที่ 1 อันเป็นลำดับต่ำสุดถึงลำดับที่ 9 คำชี้ขาดข้อ 3 ให้โจทก์จำหน่ายสุราสวัสดิการแก่ลูกจ้างในราคาเท่ากับที่จำหน่ายให้แก่สวัสดิการทหาร อันเป็นราคาต่ำกว่าที่จำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป

สำหรับคำชี้ขาดข้อ 1 นั้น โจทก์อ้างว่า ขัดกับประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 9) ซึ่งกำหนดให้ปรับอัตราค่าจ้างเฉพาะขั้นต่ำเป็นวันละ 45 บาท มิได้กำหนดให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นอื่น ๆ ด้วย เห็นว่าคณะบุคคลดังกล่าวได้ชี้ขาดไปตามข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งมีอำนาจชี้ขาดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 25 หาได้ชี้ขาดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 9) ไม่คำชี้ขาดข้อนี้ไม่ขัดกับประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว และจำเลยมีอำนาจชี้ขาด

คำชี้ขาดข้อ 3 นั้น โจทก์อ้างว่า การจำหน่ายสุราให้ลูกจ้างในราคาเท่ากับที่จำหน่ายให้สวัสดิการทหารมิใช่เรื่องสวัสดิการ ข้อขัดแย้งในเรื่องนี้จึงมิใช่ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ไม่เป็นข้อพิพาทแรงงาน จำเลยไม่มีอำนาจชี้ขาดเห็นว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มิได้ให้ความหมายของคำนี้ไว้ จึงต้องถือตามความหมายทั่วไป ซึ่งหมายถึงการให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ การที่นายจ้างจำหน่ายสุราให้ลูกจ้างในราคาเท่ากับที่จำหน่ายให้แก่สวัสดิการทหารซึ่งต่ำกว่าราคาที่จำหน่ายทั่วไป ย่อมเป็นการอนุเคราะห์ช่วยเหลือลูกจ้างอย่างหนึ่ง จึงเป็นสวัสดิการ ซึ่งเป็นสภาพการจ้างตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ข้อขัดแย้งเรื่องนี้ย่อมเป็นข้อพิพาทแรงงานจำเลยมีอำนาจชี้ขาดได้ตามกฎหมาย

พิพากษายืน

Share