คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 221-222/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังจากจำเลยได้เช่ากิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานทอผ้าพ.มาดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2523. โจทก์ทุกคนซึ่งเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานทอผ้า พ. ได้ทำงานกับจำเลยต่อมาและจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้ตามปกติแสดงว่าโจทก์ตกลงทำงานให้กับจำเลย จำเลยตกลงให้ค่าจ้างแก่โจทก์ เท่ากับจำเลยยอมรับโจทก์เป็นลูกจ้างและโจทก์ยอมรับจำเลยเป็นนายจ้าง ถือได้ว่าการปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นลูกจ้างนายจ้างกันตามความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” และ “นายจ้าง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2523 จำเลยไม่อาจตั้งเงื่อนไขให้โจทก์สมัครงานใหม่กับจำเลยได้
การที่จำเลยปิดโรงงาน 30 วัน โดยไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำงาน ถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46
การขอเลื่อนคดีหลายครั้งโดยไม่มีเหตุสมควร ถือว่าเป็นการประวิงคดีให้ชักช้าศาลชอบที่จะงดสืบพยานฝ่ายที่ขอเลื่อนคดีนั้นเสียได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 252 และเรียกโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 253 ถึงโจทก์ที่ 260

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำโดยไม่มีสาเหตุ ไม่มีความผิด และไม่บอกกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้างจำเลยได้ปิดงานตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 224 ถึงวันที่ 9 มิถุนายน2524 โดยไม่มีเหตุสมควรและไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ จำเลยยังมีหน้าที่จ่ายโบนัสแก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างคนละ 15 วัน ซึ่งถึงกำหนดจ่ายแล้วแต่จำเลยไม่ยอมจ่ายขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่างหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายและโบนัสแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยโจทก์เป็นคนงานส่วนหนึ่งของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานทอผ้าเพชรเกษม ซึ่งศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยเป็นผู้เช่ากิจการและทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานทอผ้าเพชรเกษมและเพื่อมิให้คนงานเดิมเดือดร้อน จำเลยได้ประกาศให้คนงานเดิมสมัครเข้าทำงานกับจำเลย แต่โจทก์ไม่ยอมสมัครเข้าทำงาน จำเลยให้โอกาสหลายครั้งแต่โจทก์เพิกเฉยจำเลยต้องปิดกิจการเพราะไม่มีคนงานพอที่จะทำงานได้และเพื่อจะได้หาคนงานใหม่เป็นเวลา 30 วัน ได้มีคนงานบางส่วนสมัครขอเข้าทำงานกับจำเลยและปฏิบัติตามข้อกำหนดของจำเลย จำเลยจึงเปิดทำงานบางส่วนใหม่ โจทก์ได้ไปร้องเรียนต่อแรงงานจังหวัดและกรมแรงงาน กรมแรงงานเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จึงไม่รับดำเนินการให้ จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย ค่าเสียหายและโบนัสแก่โจทก์

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างเนื่องจากมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ควรจะได้รับนับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน2524 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2524 ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วันให้แก่โจทก์แต่ละคน

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเข้าดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานทอผ้าเพชรเกษมทั้งหมด โจทก์ทุกคนซึ่งเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานทอผ้าเพชรเกษมได้ทำงานกับจำเลยต่อมาและจำเลยก็ได้จ่ายค่าจ้างให้ตามปกติ ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ตั้งเงื่อนไขใด ๆ ในการที่จะให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไป เมื่อโจทก์ได้ทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2523ซึ่งเป็นวันที่จำเลยเริ่มเข้าดำเนินกิจการตามสัญญาเช่าต่อมาแทนห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานทอผ้าเพชรเกษม แสดงว่าโจทก์ตกลงทำงานให้กับจำเลย จำเลยตกลงให้ค่าจ้างแก่โจทก์เท่ากับจำเลยได้ยอมรับโจทก์เป็นลูกจ้างและโจทก์ก็ยอมรับจำเลยเป็นนายจ้างโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ จำเลยเพิ่งจะมาตั้งเงื่อนไขให้รับสมัครคนงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานทอผ้าเพชรเกษม ตามประกาศ (ฉบับที่ 1) ของจำเลยลงวันที่ 9 เมษายน 2524 หลังจากที่โจทก์ได้ทำงานกับจำเลยมาเป็นเวลาถึง4 เดือนเศษแล้ว จึงถือได้ว่าการปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นลูกจ้างนายจ้างกันตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2523 ตามความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” และ “นายจ้าง”ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2523 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยเข้าดำเนินกิจการต่อจากห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานทอผ้าเพชรเกษมโจทก์ก็ไม่จำต้องยื่นใบสมัครเป็นลูกจ้างอีกต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2524 จำเลยได้ประกาศปิดโรงงานเป็นเวลา 30 วัน เพราะโจทก์กับลูกจ้างอื่นไม่ทำใบสมัครและไม่ยอมมอบอำนาจให้จำเลยเป็นผู้ไปขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานทอผ้าเพชรเกษม ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อปิดโรงงานครบ 30 วันแล้ว จำเลยก็ไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำงาน จึงถือได้ว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2524 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยประกาศปิดโรงงาน จำเลยเลิกจ้างโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 ข้อ 2

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางสั่งตัดพยานของจำเลยไม่ชอบนั้นเห็นว่าตามรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 27 สิงหาคม 2524 ความว่าสืบพยานจำเลยต่อได้อีก 2 ปาก ทนายจำเลยแถลงขอเลื่อนการพิจารณาอ้างว่ามีพยานมาศาลเพียงเท่านี้ โจทก์ไม่ค้านจึงให้ไปสืบพยานจำเลยต่อในวันที่ 4 และ 9 กันยายน 2524 เวลา 9 นาฬิกา ทั้งสองวัน ให้จำเลยเตรียมพยานมาศาลพร้อมที่จะสืบได้ตลอดทั้งเช้าและบ่ายด้วย และตามรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 4 กันยายน 2524 ความว่า วันนี้นัดสืบพยานจำเลย ผู้แทนโจทก์และทนายจำเลยมาศาล ทนายจำเลยแถลงว่า พยานที่จำเลยจะนำมาเบิกความในวันนี้คือ นายเริ่มรัฐ แต่เนื่องจากนายเริ่มรัฐต้องไปประชุมกรรมการบริหารชมรมนักธุรกิจ รมน. ซึ่งจะประชุมในวันที่ 4 กันยายน 2524 ณ ตึก กอ.รมน. ห้อง 101เวลา 14 นาฬิกา จึงไม่อาจมาศาลได้ ส่วนพยานอื่นของจำเลยที่นำมาสืบก็ยังไม่นำมาวันนี้ ขอเลื่อนการพิจารณาคดีนี้ไปสักครั้ง โดยขอเลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยต่อหลังจากวันที่ 10 กันยายน 2524 แล้ว เพื่อรอฟังผลคดีล้มละลายที่จำเลยถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดสมุทรสาคร ผู้แทนโจทก์คัดค้านว่าจำเลยประวิงคดีจำเลยน่าจะนำนายเริ่มรัฐมาเบิกความหลายนัดแล้ว แต่ก็ไม่นำมาเบิกความสักครั้งมาครั้งนี้ก็ขอเลื่อนอีก ขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เห็นว่าคำแถลงขอเลื่อนคดีของจำเลยอ้างว่านายเริ่มรัฐติดประชุมกรรมการบริหารชมรมนักธุรกิจ รมน.นั้นก็ปรากฏว่านัดประชุมเวลา 14 นาฬิกา หากจะมาศาลเพื่อเบิกความก็กระทำได้แต่ก็มิได้มาศาล ทั้งที่นายเริ่มรัฐก็เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทจำเลยด้วยจำเลยขอเลื่อนการสืบพยานโดยอ้างว่านายเริ่มรัฐติดธุระมาครั้งหนึ่งและผู้แทนโจทก์ก็ได้คัดค้านไว้แล้ว ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 11 สิงหาคม 2524 และวันที่ 20 สิงหาคม 2524 จำเลยก็ขอเลื่อนคดีโดยนายเริ่มรัฐไม่ได้มาศาล นอกจากนั้นวันนี้จำเลยก็ไม่มีพยานปากอื่นซึ่งควรจะนำมาสืบได้ด้วย เห็นว่าคำแถลงขอเลื่อนคดีของจำเลยไม่มีเหตุสมควร จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี เมื่อจำเลยไม่มีพยานมาสืบในวันนี้ถือว่าจำเลยหมดพยาน ตามพฤติการณ์ที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางดังกล่าวแล้วเห็นว่าเป็นการที่จำเลยประวิงคดีให้ชักช้า

พิพากษายืน

Share