แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ลูกจ้างเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อมีกรณีขัดแย้งกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง เกี่ยวกับการจัดซื้อสินค้าซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของโจทก์ โจทก์ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวแม้จะมีข้อความบางตอนไม่เหมาะสม ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาจะมีถึงผู้บังคับบัญชารวมทั้งไม่สมควรที่จะให้ทนายความมาเกี่ยวข้องตอบโต้หนังสือแทน ในการทำงานระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชากับผู้บังคับบัญชาก็ตาม ก็ยังไม่มีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49
การเลิกจ้างแม้จะมีมูลความผิดหรือมีความผิดอยู่บ้างแต่หากยังไม่สมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้แล้ว การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยขณะเกิดเหตุโจทก์ทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ได้รับเงินเดือนครั้งสุดท้ายเดือนละ 17,000 บาทเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2524 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าโจทก์ขัดคำสั่งจำเลยในการเปลี่ยนตัวผู้ขายแป้งสำหรับนำมาประกอบอาหารของจำเลยให้แก่ลูกจ้าง โจทก์ให้ทนายความของโจทก์กระทำการท้าทายคำสั่งของจำเลยและไม่ปฏิบัติตามนโยบายการจัดซื้อของจำเลยซึ่งไม่เป็นความจริงความจริงโจทก์ได้กระทำตามนโยบายการจัดซื้อของจำเลยและรักษาประโยชน์ของจำเลยแล้ว เพียงแต่โจทก์โต้แย้งว่าไม่ควรเปลี่ยนตัวผู้ขายแป้งเพราะทำให้จำเลยเสียหายแต่เมื่อจำเลยยืนยันจะเปลี่ยนโจทก์ก็ปฏิบัติตามทนายโจทก์ไม่ได้ท้าทายคำสั่งจำเลยเพียงแต่อธิบายถึงข้อดีข้อเสียของคำสั่งจำเลยเท่านั้น การเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มีภาระหน้าที่ต้องเลี้ยงบุตรขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 เป็นเงิน 204,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2524จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ ให้จำเลยออกหนังสือรับรองให้โจทก์ว่าขณะโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยได้ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่เคยกระทำความเสียหายใด ๆ ให้จำเลย มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อโจทก์จะได้นำไปแสดงต่อบริษัทอื่นในการสมัครเข้าทำงานต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เฉพาะกรณีเปลี่ยนตัวผู้ส่งแป้งเพียงกรณีเดียว ความจริงโจทก์ได้ประพฤติท้าท้ายคำสั่งจำเลยเสมอมาโจทก์สั่งซื้อสินค้าที่ทำให้จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้บังคับบัญชาโดยกิริยามารยาทที่ไม่ถูกต้อง จำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรตลอดมาคือ (ก) เมื่อประมาณวันที่ 9 พฤศจิกายน2521 เมื่อผู้จัดการใหญ่ของจำเลยหารือกับโจทก์ถึงการซื้อสินค้าซึ่งมีราคาสูงแทนที่โจทก์จะฟังความเห็นและคำแนะนำของผู้จัดการจำเลยโจทก์พูดว่าหากผู้จัดการใหญ่ของจำเลยไม่พอใจการจัดซื้อสินค้าของโจทก์ให้ทำเสียเองและได้ทำกิริยาที่ไม่บังควรซึ่งจำเลยได้ตักเตือนไว้แล้ว (ข) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2523 ผู้จัดการใหญ่ของจำเลยต้องชี้ให้โจทก์เห็นว่า หากโจทก์เปลี่ยนตัวผู้ส่งสินค้าในบางรายการบริษัทจำเลยจะประหยัดเงินได้ถึงเดือนละ 12,000 บาท ซึ่งโจทก์ควรทำมาก่อน (ค) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน2525 ผู้จัดการใหญ่ของจำเลยได้มีบันทึกถึงโจทก์เตือนให้โจทก์เลิกปฏิบัติตนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคำสั่งการเปลี่ยนตัวผู้ส่งสินค้าและเลิกใช้อารมณ์ต่อคำสั่งจำเลย แต่โจทก์หาได้ประพฤติตามที่จำเลยได้ตักเตือนไว้ไม่ (ง) เมื่อวันที่ 29มิถุนายน 2524 ผู้จัดการใหญ่ของจำเลยได้เตือนให้โจทก์ซื้อน้ำตาลชนิดเดียวกับที่โจทก์ซื้ออยู่ ในราคาที่ถูกกว่าราคาที่โจทก์ซื้อกิโลกรัมละ 4.50 บาท แต่โจทก์หาได้ระวังรักษาประโยชน์ของบริษัทไม่ (จ) เมื่อบริษัทจำเลยได้เปลี่ยนตัวหัวหน้าคนครัวใหม่ได้ทราบว่าเนื้อสัตว์ที่ส่งให้แก่บริษัทมีน้ำแข็งเกษะอยู่เป็นจำนวนมาก แต่โจทก์ในฐานะผู้จัดการฝ่ายขายได้ละเลยข้อเท็จจริงดังกล่าวเสีย และยังมีข้อบกพร่องอื่นในการทำงานของโจทก์อีก ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยตัดเตือนแนะนำโจทก์แทนที่โจทก์จะปฏิบัติตาม โจทก์กลับให้ทนายความของโจทก์ตอบบันทึกภายในของบริษัทตาม โจทก์กลับให้ทนายความของโจทก์ตอบบันทึกภายในของบริษัทแทนโจทก์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมและเป็นการข่มขู่จำเลยโดยไม่บังควร จำเลยไม่สามารถให้โจทก์ทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะจะก่อผลเสียหายแก่กิจการจำเลย โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ยังไม่ร้ายแรงถึงขนาดที่จำเลยลงโทษโจทก์ด้วยการเลิกจ้างได้ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 68,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2524เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงว่าโจทก์ได้ทำงานมานานเท่าใดและงานที่ทำนั้นเป็นอย่างไรให้โจทก์ด้วย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมนั้นจะต้องพิจารณาข้อกล่าวหาของนายจ้างว่าลูกจ้างกรทำผิดเป็นเรื่อง ๆ ไป ข้อกล่าวหาของจำเลยที่กล่าวหาโจทก์เรื่องการบกพร่องในหน้าที่การงานและเรื่องการขัดคำสั่งกรรมการผู้จัดการของจำเลยศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วว่า โจทก์ไม่บกพร่องต่อหน้าที่และฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ขัดขืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใดของกรรมการผู้จัดการของจำเลยซึ่งจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านประการใด ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ให้ทนายความของโจทก์มีหนังสือตอบโต้คำสั่งกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่มีไปถึงโจทก์เกี่ยวกับการซื้อแป้งและกล่าวตำหนิโจทก์ถึงการปฏิบัติตัวการแสดงอารมณ์ในระหว่างประชุมตามเอกสารหมาย จ.2 และเรื่องเกี่ยวกับการที่ผู้จัดการของจำเลยได้ทราบแหล่งซื้อสินค้าที่ถูกกว่าที่โจทก์ซื้ออยู่ตามเอกสารหมาย ล.1, ล.3 ถึง ล.7 ได้พิจารณาข้อความในเอกสารดังกล่าวแล้ว เอกสาร ล.1, ล.3 ถึง ล.7 เป็นหนังสือของผู้จัดการจำเลยมีถึงโจทก์ เอกสารหมาย ล.1 และ ล.4 เป็นการแจ้งให้โจทก์ทราบว่ามีผู้มาเสนอขายสินค้าต่อผู้จัดการจำเลยในราคาที่ถูกกว่าราคาที่โจทก์ซื้ออยู่และให้เปลี่ยนผู้จัดการส่งสินค้าใหม่ เอกสารหมาย ล.3 เรื่องราคาผักที่เพิ่มขึ้น การโต้แย้งและแสดงความเห็นของโจทก์และเตือนให้โจทก์ทำงานให้สอดคล้องกับผู้จัดการของจำเลย เอกสารหมาย ล.5 เป็นหนังสือแสดงความไม่พอใจของผู้จัดการจำเลยในเรื่องที่กล่าวหาว่าโจทก์จงใจให้แป้งขาดสต็อก เอกสาร ล.6 แจ้งให้ทราบว่าพริกเม็ดใหญ่ที่ใช้อยู่มีคุณภาพไม่ดีให้งดการสั่งซื้อที่มีคุณภาพดีกว่า เอกสารหมาย ล.7 แจ้งให้ทราบว่า ได้พบแหล่งขาดส่งสินค้าเนื้อปูและเชอรี่ดำที่ถูกกว่าและมีคุณภาพดีกว่าที่ใช้อยู่หนังสือตามเอกสารหมาย ล.1, ล.3 ถึง ล.7 ดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือที่มีถึงโจทก์แจ้งให้โจทก์ทราบถึงแหล่งซื้อสินค้าราคาที่ถูกกว่าและตักเตือนโจทก์ในเรื่องการโต้แย้งแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ซึ่งศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยเอกสารเหล่านี้มาแล้ว ในข้อกล่าวหาว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่เอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามอย่างไรหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายการจัดซื้อตามที่จำเลยกล่าวไว้ในหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.7 อย่างไร อันจะทำให้เห็นว่าโจทก์ได้กระทำผิดร้ายแรงจนเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ส่วนเอกสารหมาย จ.2 ข้อความส่วนใหญ่เป็นคำชี้แจงแสดงเหตุผลตามความคิดเห็นของโจทก์แม้จะมีข้อความบางตอนไม่เหมาะสมในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาจะมีถึงผู้บังคับบัญชารวมทั้งไม่สมควรที่จะให้ทนายความมาเกี่ยวข้องโต้ตอบหนังสือแทนในการทำงานระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชากับผู้บังคับบัญชาก็ตาม ข้อกล่าวหาของจำเลยยังไม่เป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 และที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่าแม้ความผิดของโจทก์ยังไม่ร้ายแรงแต่โจทก์ก็ยังมีส่วนผิดอยู่ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์มิใช่ไม่มีมูลเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์จึงจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมิได้ เห็นว่า การเลิกจ้างนั้นแม้จะมีมูลความผิดหรือมีความผิดบ้างก็ตาม แต่ยังไม่สมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้แล้วหากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน