แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับรองและค้ำประกันการเข้าทำงานของ อ.ต่อโจทก์ สัญญาว่าจะร่วมรับผิดกับ อ.ในกรณีที่อ. ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในอนาคตในขณะที่ อ. ปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกจ้างของโจทก์จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2525 และได้บอกเลิกสัญญาค้ำประกันเมื่อเดือนพฤษภาคม 2528 อ. ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2526 ระหว่างที่สัญญาค้ำประกันยังมีผลใช้บังคับ การที่จำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาค้ำประกันคงมีผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นความรับผิดในการกระทำของ อ. ที่ได้กระทำภายหลังมีการบอกเลิกสัญญาค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 699 เท่านั้น ส่วนความผิดที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดอยู่ก่อนการบอกเลิกสัญญาหาได้ระงับไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและใช้รถยนต์โดยสารคันหมายเลข 10-4291 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-4288 กรุงเทพมหานคร โดยเช่ามาจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2512โจทก์ได้รับนายอุทัย ถัดหลาย เข้าเป็นลูกจ้างของโจทก์ทำหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานขับรถ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำหนังสือรับรองและค้ำประกันการเข้าทำงานของนายอุทัย ให้สัญญาว่าถ้านายอุทัยได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในขณะที่ทำหน้าที่เป็นลูกจ้างของโจทก์ไม่ว่าโดยเจตนาหรือประมาท รวมทั้งความเสียหายที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในฐานะนายจ้างของนายอุทัย จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดใช้ค่าเสียหายร่วมกับนายอุทัยให้แก่โจทก์เสมือนลูกหนี้ร่วม โดยไม่จำกัดจำนวน ต่อมาจำเลยที่ 2ได้มาทำหนังสือรับรองและค้ำประกันการเข้าทำงานของนายอุทัยไว้ต่อโจทก์อีกผู้หนึ่ง ภายในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาทในขณะที่นายอุทัยทำหน้าที่ลูกจ้างของโจทก์ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ คือเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2525 นายอุทัยได้ขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-4291 กรุงเทพมหานครไปในทางการที่จ้างของโจทก์ ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถกระบะอีซูซุของนางสุรินทร์ โหนแหยม ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินค่าซ่อม 40,000 บาท ซึ่งโจทก์ในฐานะนายจ้างได้จ่ายเงินให้แก่นางสุรินทร์แทนนายอุทัยไปเมื่อวันที่ 28พฤษภาคม 2525 จากอุบัติเหตุดังกล่าวรถคันหมายเลขทะเบียน10-4291 กรุงเทพมหานคร ก็ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินค่าซ่อม 43,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมให้แก่บริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ผู้ให้เช่าไปแล้วเมื่อวันที่6 สิงหาคม 2526 นายอุทัยจึงต้องรับผิดชอบในค่าเสียหายจำนวนนี้ต่อโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2526 หลังจากที่นายอุทัยนำรถยนต์โดยสารคันหมายเลข 10-4288 กรุงเทพมหานคร ออกรับผู้โดยสารแล้วไม่นำไปจอดที่อยู่ผู้ดูแลตามระเบียบข้อบังคับของบริษัท แต่ได้นำไปจอดทิ้งไว้ที่สถานีเอกมัย อันเป็นการประมาทเลินเล่อไม่ดูแลระมัดระวังให้ดีมีผู้นำกากเพชรไปใส่ในเครื่องยนต์ของรถได้รับความเสียหายต้องซ่อมแซมคิดเป็นเงิน 35,513 บาทโจทก์ได้มีคำสั่งให้ลดขั้นเงินเดือน หักเงินชดใช้และให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งค่าซ่อมจำนวนดังกล่าวโจทก์ต้องรับผิดจ่ายให้กับบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้เช่า นายอุทัยจึงต้องรับผิดค่าเสียหายดังกล่าวต่อโจทก์ด้วย รวมเป็นค่าเสียหายที่นายอุทัยเป็นผู้ก่อให้เกิดแก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น118,813 บาท โจทก์ได้หักเงินเดือนของนายอุทัยชดใช้ค่าเสียหายไปแล้วเป็นเงิน 36,150 บาท ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์2529 นายอุทัยได้ถึงแก่กรรม ขณะตายนายอุทัย มีเงินประกันตัว2,494 บาท และมีสิทธิได้รับเงินโบนัสประจำปี 2528 จำนวน 3,190บาท และมีสิทธิได้รับเงินกองทุนบำเหน็จ จำนวน 41,760.93 บาทรวมเป็นเงินที่นายอุทัยมีสิทธิได้รับขณะถึงแก่กรรมเป็นเงิน47,451.93 บาท ซึ่งโจทก์ได้หักเงินดังกล่าวชดใช้ไว้แล้วยังคงเหลือหนี้ที่นายอุทัยต้องรับผิดชดใช้กับโจทก์อีกจำนวน35,211.07 บาท จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ค้ำประกันนายอุทัยขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกไม่ค้ำประกันนายอุทัยต่อไป และนายอุทัยมีผู้ค้ำประกันคนใหม่แล้วสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 จึงระงับไป คดีโจทก์ขาดอายุความว่าด้วยเรื่องละเมิดแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม มีวัตถุประสงค์ในการรับทำการขนส่งทั่วไป โจทก์เป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์รถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-4291 กรุงเทพมหานคร หมายเลขข้างรถ99-677 และรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-4288กรุงเทพมหานคร หมายเลขข้างรถ 99-692 โดยเช่ามาจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด นายอุทัยเป็นลูกจ้างของโจทก์ทำหน้าที่พนักงานขับรถ มีหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.7 ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับรองและค้ำประกันการเข้าทำงานของนายอุทัยต่อโจทก์ สัญญาว่าจะร่วมรับผิดกับนายอุทัยในกรณีที่นายอุทัยก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่โจทก์ในขณะที่นายอุทัยปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกจ้างของโจทก์ ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือโดยประมาทรวมทั้งความเสียหายซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ต่อบุคคลภายนอกในฐานะนายจ้างของนายอุทัยโดยยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2525 นายอุทัยขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน10-4291 กรุงเทพมหานคร ไปโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังเฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกกระบะยี่ห้ออีซูซุของนางสุรินทร์ โหนแหยมเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย โจทก์ในฐานะนายจ้างต้องชดใช้เงินค่าซ่อมรถยนต์ให้นางสุรินทร์ 40,000 บาท และจ่ายค่าซ่อมรถยนต์ให้บริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ผู้ให้เช่าตามสัญญาเช่าเป็นเงิน 43,000 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.9และเอกสารแยกเก็บ (เอกสารไม่ได้หมาย) ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2526นายอุทัยโดยประมาทเลินเล่อละเว้นหรือบกพร่องต่อหน้าที่ได้นำรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-4288 กรุงเทพมหานคร หมายเลขข้างรถ 99-692 ไปจอดทิ้งไว้ที่สถานีขนส่งเอกมัยโดยไม่ระมัดระวังดูแลเป็นเหตุให้มีคนนำกากเพชรใส่ลงไปในเครื่องยนต์ ทำให้เครื่องยนต์เสียหายใช้การไม่ได้ต้องซ่อมเป็นเงิน 35,513 บาทปรากฏตามเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งความเสียหายทั้งสามรายการรวม118,813 บาทนี้ นายอุทัยต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ และนายอุทัยก็ยอมรับผิดต่อโจทก์แล้ว โจทก์จึงหักเงินเดือนของนายอุทัยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ตลอดมาตามบัญชีเอกสารหมาย จ.17แต่ยังไม่ครบถ้วน นายอุทัยได้ตายไปก่อนเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์2529 โจทก์จึงนำเงินประกันตัวที่นายอุทัยมีอยู่ 2,494 บาทเงินโบนัสประจำปี 2528 จำนวน 3,190 บาท และเงินกองทุนบำเหน็จ41,760.93 บาท หักออกจากจำนวนหนี้ที่มีอยู่ คงเหลือเงินที่นายอุทัยต้องชำระให้โจทก์จำนวน 35,211.07 บาท และตามเอกสารหมาย ป.จ.1 ว่า นายโกวิทย์ นุกสมพันธ์ ได้ทำหนังสือค้ำประกันการเข้าทำงานของนายอุทัยอยู่ก่อนแล้ว ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5ภายหลังที่จำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันนายอุทัยตามเอกสารหมาย จ.7 ได้มีนาวาเอกจิตตวีร์ ภูมิจิตร ทำหนังสือค้ำประกันนายอุทัยด้วยตามเอกสารหมาย จ.8 และศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันการเข้าทำงานของนายอุทัย
พิเคราะห์แล้ว คดีสำหรับจำเลยที่ 1 มีทุนทรัพย์ที่พิพาทจำนวน 35,211.07 บาท ซึ่งไม่เกินจำนวน 50,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันนายอุทัย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่าจำเลยที่ 2ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่นั้น ปัญหาแรก ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันนายอุทัยไว้ต่อโจทก์เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2525 และได้บอกเลิกสัญญาค้ำประกันเมื่อเดือนพฤษภาคม 2528 นายอุทัยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ครั้งหลังเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2526 ระหว่างที่สัญญาค้ำประกันยังมีผลใช้บังคับ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 699บัญญัติว่า “การค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ โดยบอกความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้ในกรณีเช่นนี้ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้” ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาค้ำประกันคงมีผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นความรับผิดในการกระทำของนายอุทัยที่ได้กระทำภายหลังมีการบอกเลิกสัญญาค้ำประกันเท่านั้น ส่วนความผิดที่จำเลยที่ 2ต้องรับผิดอยู่ก่อนการบอกเลิกสัญญาหาได้ระงับไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นปัญหาข้อหลังเรื่องคดีขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่านายอุทัยได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ครั้งหลังเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2526 ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2527 นายอุทัยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ ยอมชดใช้ค่าเสียหายจำนวน35,513 บาท แก่โจทก์ ยอมให้โจทก์หักเงินเดือนชดใช้เดือนละ500 บาท จนกว่าจะครบจำนวน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.12 และโจทก์ได้หักเงินเดือนของนายอุทัยชดใช้ตลอดมาจนนายอุทัยได้ตายไปปรากฏตามเอกสารหมาย จ.17 ความรับผิดของนายอุทัยที่มีต่อโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน และความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2530 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน ส่วนฎีกาของโจทก์ให้ยก