คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2208/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกัน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 ข้อกำหนดในสัญญาค้ำประกันระบุว่า การเรียกร้องตามหนังสือสัญญาค้ำประกันต้องกระทำภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสัญญา ข้อความดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการตกลงกันย่นอายุความตามมาตรา 193/11 จึงขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 560,824.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และค่าปรับในอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ของต้นเงิน 335,029.04 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันใช้เงิน 296,860.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 กันยายน 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอากับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก่อน หากยังมิได้รับชำระหนี้อยู่เพียงใดจึงให้บังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 4 ทั้งนี้จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดไม่เกิน 700,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวนดังกล่าวในฐานะผู้ค้ำประกันหรือไม่ จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า โจทก์ผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 มิได้ยินยอม และโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 รับผิดภายใน 15 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงการที่โจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 4 ก็ยอมต่ออายุสัญญาค้ำประกันออกไป ตามสำเนาหนังสือต่ออายุสัญญาค้ำประกัน จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 ยินยอมให้โจทก์ผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า การที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 4 ชำระหนี้ เมื่อล่วงเลยกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาค้ำประกัน ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับทำให้จำเลยที่ 4 หลุดพ้นความรับผิดหรือไม่ เห็นว่า ข้อกำหนดในหนังสือสัญญาค้ำประกันระบุไว้ว่า การเรียกร้องตามหนังสือสัญญาจะต้องกระทำภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสัญญาดังกล่าว หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หมดความรับผิดชอบหรือภาระผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น ข้อความดังกล่าวมีความหมายเป็นการกำหนดให้ใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องต่อจำเลยที่ 4 เกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันภายใน 15 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสัญญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้กำหนดอายุความการค้ำประกันไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 และตามมาตรา 193/11 บัญญัติว่า “อายุความที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น คู่กรณีจะตกลงกันให้งดใช้หรือขยายออกหรือย่นเข้าไม่ได้” ข้อกำหนดในหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการย่นอายุความ จึงขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 กรณีมิใช่เป็นเพียงเงื่อนไขบังคับให้โจทก์ต้องปฏิบัติโดยเรียกร้องทวงถามจำเลยที่ 4 ก่อนภายในระยะเวลาที่กำหนดอันเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของโจทก์และจำเลยที่ 4 แต่อย่างใด ดังนั้น แม้โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ภายใน 15 วัน นับแต่สัญญาค้ำประกันสิ้นสุด จำเลยที่ 4 ก็ไม่หลุดพ้นความรับผิด จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดตามวินิจฉัยให้เหตุผลมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share