คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2703/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกค้าของธนาคาร จำเลยที่ 3 สาขาลาดพร้าวได้ติดต่อรับซื้อลดเช็คจาก พ. พนักงานฝ่ายสินเชื่อของจำเลยที่ 3 ซึ่งเช็คดังกล่าว พ. อ้างว่าเป็นของลูกค้าจำเลยที่ 3 โดยโจทก์กับ พ. แบ่งผลประโยชน์ในส่วนลดกัน เมื่อเช็คถึงกำหนด พ. จะนำไปเก็บเงินจากลูกค้าแล้วนำเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ ดังนี้ เท่ากับ พ. เป็นผู้ไปรับฝากเงินจากโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ต้องนำเงินเข้าบัญชีด้วยตนเองจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีและผู้จัดการของจำเลยที่ 3 สาขาลาดพร้าว ก็ทราบเรื่องที่ พ. นำเงินเข้าบัญชีโจทก์ดังกล่าว ถือว่าจำเลยทั้งสามเชิดให้ พ. เป็นตัวแทนออกไปรับฝากเงินจากลูกค้านอกสถานที่ตาม ป.พ.พ.มาตรา 821 หาก พ. ได้รับเงินจากลูกค้าผู้สั่งจ่ายเช็คเพื่อนำมาเข้าบัญชีโจทก์แล้ว ถึงแม้ พ. จะทุจริตมิได้นำเข้าบัญชี จำเลยที่ 3 ก็จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา820,821.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานลูกจ้างของธนาคารกรุงไทยจำกัด จำเลยที่ 3 สาขาลาดพร้าว ตำแหน่งสมุห์บัญชี จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 3 สาขาลาดพร้าว โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับจำเลยที่ 3 สาขาลาดพร้าวโจทก์ฝากเงินสดเข้าบัญชีดังกล่าว 2 รายการรวม 1,100,000 บาท ต่อมาโจทก์ทราบว่ารายการฝากเงินสดดังกล่าวได้ถูกจำเลยที่ 1 ลงรายการแก้ไขหักเงินออกจากบัญชีโดยลงรายการประเภทแก้ไขข้อผิดพลาด ซึ่งเป็นการกระทำโดยมิชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในจำนวนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารคิดจากโจทก์ในการเบิกเงินเกินบัญชี เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ตามคำสั่งและการบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยนำเงิน 1,100,000 บาท กลับเข้าบัญชีของโจทก์หรือชดใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงิน 1,149,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีในต้นเงิน 1,100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่ได้นำเงินสดจำนวน 1,100,000 บาทฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันตามฟ้อง จำเลยทั้งสามไม่เคยรับฝากเงินดังกล่าวจากโจทก์ ความจริงการแก้ไขบัญชีกระแสรายวันเป็นการแก้ไขเมื่อลงตัวเลขในบัญชีผิดพลาด จึงชอบที่จะล้างรายการออกเสียได้เป็นวิธีปฏิบัติตามปกติของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป จำเลยทั้งสามมิได้กระทำเพื่อหักเงิน 1,100,000 บาทออกจากบัญชี โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามจำเลย โจทก์คงเดินสะพัดทางบัญชีกับจำเลยตลอดมาตามปกติ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน1,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จากการนำสืบของทั้งสองฝ่าย และที่ปรากฏในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 18768/2526 ของศาลแขวงพระนครเหนือได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นสมุห์บัญชี จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการ ส่วนนายไพโรจน์ ลักษณาวิน เป็นพนักงานฝ่ายสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำเลยที่ 3 สาขาลาดพร้าว โจทก์เป็นลูกค้าเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับจำเลยที่ 3 สาขาลาดพร้าว บัญชีเลขที่011 – 6 – 00389 – 8 นายไพโรจน์นำเช็คซึ่งอ้างว่าเป็นของลูกค้าจำเลยที่ 3 ไปขายให้กับโจทก์โดยโจทก์จะได้ส่วนลดร้อยละ 6 ของจำนวนเงินตามเช็คแต่ละฉบับส่วนลดที่โจทก์ได้นี้โจทก์จะแบ่งให้นายไพโรจน์ร้อยละ 2 โจทก์คงได้ร้อยละ 4 เมื่อเช็คที่นายไพโรจน์นำมาขายถึงกำหนดนายไพโรจน์จะมาขอรับเช็คเพื่อนำไปเก็บเงินจากลูกค้าผู้สั่งจ่ายเช็คแล้วนำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ ดังปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันและใบรับฝากเงิน (เปย์อิน) ตามเอกสารหมาย จ.1, จ.2ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2526 นายไพโรจน์มาขอรับเช็คที่ถึงกำหนดเพื่อนำไปเก็บเงินรวมเป็นเช็ค 9 ฉบับ เป็นเงิน 1,100,000 บาท และในวันเดียวกันนายไพโรจน์ได้นำบัญชีกระแสรายวันหรือสเตทเมนต์ซึ่งลงรายการว่า จำเลยที่ 3 ได้รับเงินฝากรวม 2 รายการ เป็นเงิน 1,100,000 บาทมาแสดงต่อโจทก์เหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติ หลังจากนั้นปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ขีดฆ่ารายการลงรับเงิน 1,100,000 บาท โดยอ้างว่ามิได้มีการนำเงิน 1,100,000 บาท ฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิด
จากที่ได้ความดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสามจะต้องร่วมรับผิดในการกระทำของนายไพโรจน์ต่อโจทก์สำหรับเงินจำนวน 1,100,000 บาท หรือไม่นั้น จะต้องแยกพิจารณาการปฏิบัติของนายไพโรจน์เป็นสองตอนหรือสองเรื่องกล่าวคือ สำหรับเรื่องที่นายไพโรจน์นำเช็คที่อ้างว่าเป็นของลูกค้าของจำเลยที่ 3 ไปขายลดให้โจทก์นั้น ไม่ปรากฏจากการนำสืบของทั้งสองฝ่ายว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมรู้เห็นในการกระทำของนายไพโรจน์แต่ประการใด เช็คที่นำไปขายลดให้แก่โจทก์ก็มีทั้งของจำเลยที่ 3 และมิใช่ของจำเลยที่ 3 ดังนั้น ในเรื่องที่นายไพโรจน์นำเช็คไปขายลดให้แก่โจทก์โดยต่างได้รับผลประโยชน์จากส่วนลดร่วมกันนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างโจทก์กับนายไพโรจน์ จำเลยทั้งสามหามีส่วนจะต้องรับผิดในเรื่องดังกล่าวนี้ไม่
สำหรับเรื่องที่นายไพโรจน์นำเงินที่เก็บได้จากลูกค้าผู้สั่งจ่ายเช็ค แล้วนำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์นั้นเห็นว่าเท่ากับนายไพโรจน์เป็นผู้ไปรับเงินฝากเข้าบัญชีจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้า โดยที่โจทก์ไม่ต้องนำเงินมาฝากเข้าบัญชีที่ธนาคารด้วยตนเองอันเป็นการให้ความสะดวกแก่ลูกค้าของจำเลยที่ 3 นั่นเอง จำเลยที่ 1ก็ตอบค้านทนายโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ทราบว่านายไพโรจน์เคยเขียนใบเปย์อิน และนำเงินเข้าบัญชีให้แก่โจทก์บ่อย ๆ ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีความเสียหาย คำเบิกความของจำเลยที่ 1 ดังนี้ แสดงว่าจำเลยที่ 1ยอมรับเอาการกระทำหรือการปฏิบัติของนายไพโรจน์ที่ไปรับฝากเงินจากลูกค้านอกสถานที่ และเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ก็ทราบด้วยดังจะเห็นได้จากใบรับฝากเงินตามเอกสารหมาย จ.2 และบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 รายการฝากเงินดังกล่าวหลายรายการฝากเป็นจำนวนหลายแสนบาท จึงมีผลเท่ากับจำเลยทั้งสามเชิดให้นายไพโรจน์เป็นตัวแทนออกไปรับฝากเงินจากลูกค้านอกสถานที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 เมื่อถือว่านายไพโรจน์เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยไปรับฝากเงินจากลูกค้านอกสถานที่แล้ว เรื่องการนำเงินที่รับฝากมาเขียนใบเปย์อิน การลงบัญชีรับฝากเงินสด การที่จำเลยที่ 1 จะต้องลงชื่อกำกับยอดเงินในบัญชีกระแสรายวัน ตลอดจนนายไพโรจน์จะมีหน้าที่ทำอะไรบ้างนั้น เป็นเรื่องภายในบุคคลภายนอกหารู้ไม่ ดังนั้นในกรณีเรื่องนี้ หากนายไพโรจน์ได้รับเงินจากลูกค้าผู้สั่งจ่ายเช็คเพื่อนำมาเข้าบัญชีให้โจทก์อย่างที่เคยปฏิบัติแล้วถึงแม้นายไพโรจน์จะทุจริตมิได้นำมาเข้าบัญชี ธนาคารจำเลยก็จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820, 821
ดังนั้นจึงมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่านายไพโรจน์ได้รับเงินตามเช็คทั้ง 9 ฉบับจากลูกค้าซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเพื่อนำเข้าบัญชีโจทก์อย่างที่เคยปฏิบัติหรือไม่ ศาลฎีกาได้ตรวจสอบคำเบิกความของโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 18768/2526 แล้วปรากฏว่าได้เบิกความในคดีดังกล่าวว่า เช็คทั้ง 9 ฉบับ ที่รับซื้อไว้และมอบให้นายไพโรจน์ไปเก็บเงินนั้น เป็นเช็คที่มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายที่มิใช่เจ้าของบัญชีทั้ง 9 ฉบับ จึงเป็นที่เห็นได้ชัดว่านายไพโรจน์ไม่สามารถจะนำเช็คทั้ง 9 ฉบับไปเก็บเงินจากผู้สั่งจ่ายได้จึงมีผลเท่ากับนายไพโรจน์มิได้รับฝากเงินจำนวน 1,100,000 บาท จากโจทก์นั่นเองดังนั้นแม้จะมีการลงรายการในบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ว่าได้รับฝากเงินจากโจทก์ 1,100,000 บาท ซึ่งเป็นการผิดพลาดไปจำเลยก็มีอำนาจที่จะขีดฆ่ารายการดังกล่าวออกและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share