คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1207/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ เป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะให้แก้ไขเสียแล้ว ศาลฎีกาจึงพิพากษายกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑, ๓๙๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๑๕๗
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑, ๓๙๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๑๕๗ แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษตามบทหนักที่สุดฐานประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุก ๖ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลงกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก ๓ ปี
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะฎีกาข้อ ข. ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยข้อ ข. ว่า โจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อโจทก์ท้ายฟ้อง คำฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๗) พิเคราะห์แล้ว คดีอาญานั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี ฯลฯ (๗) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง” ปรากฏว่าตามคำฟ้องของโจทก์คงมีแต่ลายมือชื่อผู้เรียงและผู้พิมพ์ฟ้องเท่านั้น โจทก์หาได้ลงลายมือชื่อไว้ในคำฟ้องไม่ เห็นว่า ฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ เป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๗) และในชั้นนี้ล่วงเลยเวลาที่จะให้แก้ไขมาแล้ว ศาลไม่อาจพิจารณาฟ้องของโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษายกฟ้อง

Share