แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2ไว้จาก อ. จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทชนรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวแล้ว แม้จำเลยที่ 2จะมิใช่ผู้เอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ไว้แก่จำเลยที่ 3 แต่สัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ 3 กับ อ.ได้ระบุไว้ว่า กรมธรรม์นี้ให้คุ้มครองถึงนายจ้างซึ่งมิใช่ผู้เอาประกันภัย เมื่อนายจ้างจะต้องรับผิดจากการใช้รถยนต์คันเอาประกันภัยโดยลูกจ้างในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 3จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามข้อสัญญาดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันวินาศภัยรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-2426 ลพบุรี ไว้จากนางน้อย ตั้งรัศมีมีอายุสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2526 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม2527 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน80-2294 นครปฐม และขณะเกิดเหตุเป็นลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2527 เวลากลางวันจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทชนถูกรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยเสียหาย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น6,000 บาท โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสาม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างและไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ ต่อจำเลยที่ 2 ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 ได้ขายรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-2294นครปฐมไปแล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 มิได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-2426ลพบุรีไว้จากนางน้อย ตั้งรัศมี ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 คันหมายเลขทะเบียน 80-2294 นครปฐม ไว้จากนายอนุภาพ ติยะสันติวงศ์ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.2วันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทชนรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวแล้ว มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่าจำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 จะมิใช่ผู้เอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 คันหมายเลขทะเบียน 80-2294 นครปฐม ไว้แก่จำเลยที่ 3แต่สัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยกับนายอนุภาพผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 2.9 ได้ระบุข้อสัญญาไว้ว่า “กรมธรรม์นี้ให้ความคุ้มครองถึงนายจ้างซึ่งมิใช่ผู้เอาประกันภัยเมื่อนายจ้างจะต้องรับผิดจากการใช้รถยนต์คันเอาประกันภัยโดยลูกจ้างในทางการที่จ้างฯลฯ” จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามข้อสัญญาดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่ 3ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน