แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานฝ่าฝืนมาตรา 88 และมาตรา 90 แต่ในมาตรา 87(2) นั้นเองบัญญัติต่อไปว่า “…แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้”เมื่อพยานบุคคลที่จำเลยอ้างเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญในคดีส่วนพยานเอกสารที่จำเลยอ้างก็เป็นชุดเดียวกับที่โจทก์อ้างทั้งจำเลยขอยื่นบัญชีพยานในวันนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน แม้จะสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 2 ปาก ก็ไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ เนื่องจากเป็นการนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์เท่านั้น ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งรับบัญชีพยานของจำเลยเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินนา 2 แปลง โจทก์มอบให้จำเลยไปแจ้งขอออก ส.ค.1 และขอออก น.ส.3 ก. แทนโจทก์ จำเลยได้ไปขอออก ส.ค.1 และ น.ส.3 ก. แล้วโดยใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยจะโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้ผู้อื่น ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยโอนที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์ หากจำเลยไม่ยอมให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยให้การว่า ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่นาตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 4740 ทั้งแปลง และมีสิทธิครอบครองที่นาตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 4272 ครึ่งหนึ่ง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยโอนที่นาพิพาททั้งสองแปลงคืนให้แก่โจทก์ ตามที่โจทก์มีสิทธิครอบครองดังกล่าวหากจำเลยไม่ยอมไปโอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าที่ศาลชั้นต้นสั่งรับบัญชีพยานของจำเลยซึ่งมิได้ยื่นต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าสามวันและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยยืนตามนั้นชอบหรือไม่ คดีได้ความตามท้องสำนวนว่า ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2531 และกำหนดให้โจทก์นำสืบก่อนโดยนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 26 กรกฎาคม 2531 เมื่อถึงวันนัดทนายโจทก์ขอเลื่อนคดีอ้างเหตุว่าได้บวชเป็นพระภิกษุอยู่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 26 สิงหาคม 2531ครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยขอเลื่อนคดีอ้างเหตุว่าได้รับอุบัติเหตุรถชนแพทย์สั่งให้พักรักษาตัว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 7 ตุลาคม 2531 เวลา 8.30 นาฬิกา ในวันนัดดังกล่าวโจทก์นำพยานเข้าสืบในช่วงเช้าได้ 2 ปาก ครั้นเวลา 13.30นาฬิกา จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีพยานภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากเชื่อโดยสุจริตว่าเคยยื่นไว้พร้อมกับวันที่ยื่นคำให้การเพราะมีบันทึกไว้ในปกสำนวนคดีของทนายจำเลยและก่อนหน้าที่โจทก์จำเลยจะหาทางเจรจากันหลายครั้ง ประกอบกับทนายจำเลยประสบอุบัติเหตุไม่ได้มาศาลด้วยตนเองทำให้หลงลืมตรวจสอบรายละเอียดในการดำเนินคดีจำเลยมิได้มีเจตนาจะฝ่าฝืนหรือจงใจจะไม่ยื่นบัญชีพยาน จึงขอยื่นบัญชีระบุพยานบุคคล 6 อันดับ และพยานเอกสาร 1 อันดับ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2) ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานฝ่าฝืนมาตรา 88 และมาตรา 90 คือต้องยื่นบัญชีพยานและยื่นสำเนาเอกสารต่อศาล และส่งให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน ก็ดี แต่ในมาตรา 87(2) นั้นเองบัญญัติต่อไปว่า “…แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้” จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยซื้อที่นาหนองเบนจากนางมีมารดาโจทก์ และซื้อที่นาทุ่งจากบุคคลภายนอก เมื่อทางราชการประกาศออก น.ส.3 ก.โดยภาพถ่ายทางอากาศ จำเลยได้ยื่นคำขอออก น.ส.3 ก. ในที่ดินทั้งสองแปลงเป็นชื่อของจำเลยมิได้ทำแทนโจทก์ ฉะนั้นพยานบุคคลที่จำเลยอ้างเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่นาพิพาททั้งสองแปลง จึงเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญในคดี ส่วนพยานเอกสารที่จำเลยอ้างนั้นก็เป็นชุดเดียวกับที่โจทก์อ้าง ทั้งจำเลยขอยื่นบัญชีพยานในวันนัดสืบพยาน แม้จะสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 2 ปาก ก็ไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ เนื่องจากเป็นการนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์เท่านั้นการที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งรับบัญชีพยานของจำเลยเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยยืนตามนั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน