คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2206/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ตามสัญญาซื้อขายคืน หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองใช้ราคาในส่วนที่ยังค้างชำระให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่ารถยนต์ได้รับความเสียหายเพราะชนกับรถยนต์บุคคลอื่น ต่อมาได้เกิดไฟลุกไหม้ จำเลยทั้งสองไม่อาจคืนรถยนต์ให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้งานได้ดี ซึ่งหากจำเลยทั้งสองต้องชำระราคารถยนต์ให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เอาประกันภัยรถยนต์ไว้กับจำเลยร่วมโดย โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันที่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1ชดใช้ราคารถยนต์ให้โจทก์ ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกค่าทดแทนสำหรับความเสียหายของรถยนต์จากจำเลยร่วมกับผู้รับประกันภัยรถยนต์ได้จำเลยทั้งสองจึงขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) และเมื่อศาลได้มีหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีแล้ว ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยร่วมต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยให้โจทก์ได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ขายรถยนต์บรรทุกให้จำเลยที่ 1 ในราคา223,370 บาท โดย จำเลยที่ 1 ชำระราคาให้โจทก์ในวันส่งมอบรถยนต์เป็นเงิน 41,750 บาท ต้องผ่อนชำระราคาเป็นงวด งวดละ 5,045 บาทรวม 36 งวด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของโจทก์จนกว่าจะชำระราคาครบจึงจะได้กรรมสิทธิ์และในระหว่างนั้นหากรถยนต์เกิดสูญหายหรือชำรุดบุบสลาย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระราคาตามงวด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ในสภาพเรียบร้อยได้ ถ้าคืนไม่ได้ต้องชดใช้ราคารถยนต์ที่ซื้อเต็มตามจำนวนเงินค่าซื้อทั้งหมดจำเลยที่ 2 ได้ยอมตนเข้าค้ำประกัน โดย ยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1อย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์จากโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 คงชำระราคาให้โจทก์เพียง 46,795 บาท แล้วไม่ชำระให้อีกขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์บรรทุกคืนให้แก่โจทก์หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองใช้ราคาในส่วนที่ขาด พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อรถยนต์จากโจทก์ โจทก์ได้จัดให้บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัดเป็นผู้รับประกันภัยและโจทก์เป็นผู้รับผลประโยชน์ ในระหว่างอายุสัญญาซื้อขายและอายุสัญญาประกันภัยรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์ได้เกิดอุบัติเหตุชนกันกับรถยนต์บุคคลอื่นและต่อมาเกิดไฟลุกไหม้เสียหาย จำเลยที่ 1 ได้ไปพบผู้แทนโจทก์ และผู้แทนบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด แจ้งเรื่องที่เกิดอุบัติเหตุให้โจทก์ทราบเพื่อเรียกเงินประกันจากบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัดและแจ้งให้บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด จ่ายเงินตามสัญญาประกันแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงหมดภาระผูกพันกับโจทก์ทุกประการทั้งได้ส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญาต่อโจทก์อย่างไรก็ดีการซื้อขายรถยนต์รายนี้มีประกันภัยโดย โจทก์เป็นผู้รับผลประโยชน์จึงควรที่โจทก์จะเรียกร้องเอาจากบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า โจทก์บรรยายฟ้องและกล่าวอ้างโดย กำหนดข้อหาหรือฐานความผิดเรื่องผิดสัญญาซื้อขาย ค้ำประกัน จำเลยร่วมซึ่งถูกเรียกเข้ามาในคดีไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีนิติสัมพันธ์ในทางใด ๆ ต่อโจทก์หรือจำเลยทั้งสอง จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมรับผิดใช้เงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2528จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์จากโจทก์ ในราคา 223,370 บาทได้ชำระราคาให้โจทก์ในวันทำสัญญา 41,750 บาท ส่วนที่เหลือกำหนดชำระให้โจทก์เป็นงวด งวดละ 5,045 บาท รวม 36 งวด และมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกัน ปรากฏตามหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์โดย มีเงื่อนไขและหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 จำเลยที่ 1ได้ประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวไว้แก่จำเลยร่วมในทุนประกันภัย120,000 บาท โดย ให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.8 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ตามสัญญาไปใช้และชนกับรถยนต์บุคคลอื่นเป็นเหตุให้รถยนต์ตามสัญญาเสียหายใช้การไม่ได้ จากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ผ่อนชำระราคารถยนต์ให้โจทก์อีกรวมจำเลยที่ 1 ได้ชำระราคารถยนต์ให้โจทก์แล้วเพียง 46,795 บาทคงค้างชำระราคาอยู่อีก 176,575 บาท โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาซื้อขายต่อจำเลยที่ 1 และได้ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระราคารถยนต์ในส่วนที่ยังค้างชำระตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 จำเลยทั้งสองไม่ได้ชำระเงินให้โจทก์ มีปัญหาที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ดังคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองหรือไม่ที่จำเลยร่วมฎีกาในปัญหานี้ว่า จำเลยทั้งสองจะขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ไม่ได้ และที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ตามสัญญาประกันภัยเอกสารหมาย จ.8 เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ตามสัญญาซื้อขายคืนให้โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองใช้ราคารถยนต์ในส่วนที่ยังค้างชำระให้โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การว่ารถยนต์ตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้รับความเสียหายเพราะชนกับรถยนต์บุคคลอื่น ต่อมาได้เกิดไฟลุกไหม้ และในทางพิจารณาก็ได้ความว่ารถยนต์ดังกล่าวชนกับรถยนต์อื่นจนเสียหายใช้การไม่ได้จริง เห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองไม่อาจคืนรถยนต์ให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้งานได้ดี ซึ่งหากจำเลยทั้งสองต้องชำระราคารถยนต์ให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้กับจำเลยร่วม และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันที่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ราคารถยนต์ให้โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยฟ้องเรียกค่าทดแทนสำหรับความเสียหายของรถยนต์ตามสัญญาซื้อขายจากจำเลยร่วมผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวจำเลยทั้งสองจึงขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) และเมื่อศาลชั้นต้นได้มีหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตามที่จำเลยทั้งสองร้องขอดังกล่าวแล้ว ศาลล่างทั้งสองย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยร่วมต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย เอกสารหมาย จ.8 ให้โจทก์ได้ จะถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ได้ และด้วยเหตุดังวินิจฉัยแล้ว จึงเห็นว่าจำเลยร่วมต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง”
พิพากษายืน

Share