คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ห้องพิพาทจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ของจำเลย แต่เมื่อโจทก์ยังครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นและยังได้แย้งสิทธิ์ตามสัญญาเช่าอยู่ ถ้าจำเลยเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยปกติสุข จำเลยก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ได้
การที่จำเลยใช้ไม้กระดานตีขวางทับประตูห้องที่โจทก์ครอบครองในขณะที่โจทก์ไม่อยู่และปิดห้องไว้ ทำให้โจทก์เข้าอยู่ในห้องไม่ได้ เป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของโจทก์ ถือได้ว่าเข้าไปกระทำการรบกวนครอบครองของโจทก์โดยปกติสุขตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 แล้ว
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 29/2511)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของห้องพิพาท โจทก์เป็นผู้เช่าห้องพิพาท จำเลยกับสมัครพรรคพวกได้ปิดประตูห้องพิพาทและขู่บังคับมิให้โจทก์เข้าไปในห้อง โดยเจตนารบกวนการครอบครองไม่ให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้องอยู่อาศัยโดยปกติสุข ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๘๓, ๘๔
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีมีมูล
จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้ว่า ห้องพิพาทเป็นของจำเลย โจทก์ไม่ได้เช่าห้องพิพาทจากจำเลย จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลย และไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยปิดประตูห้องพิพาทโดยสุจริต เพราะผู้เช่าคืนห้องให้แก่จำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ ให้ปรับ ๖๐๐ บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์จำเลยโต้แย้งสิทธิกันในทางแพ่งเกี่ยวกับสัญญาเช่าที่โจทก์ทำไว้กับเจ้าของเดิม หากจำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิอยู่ในห้องพิพาทต่อไป ก็ชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตน ไม่มีอำนาจโดยพละการที่จะปิดห้องที่โจทก์ครอบครอง และยังโต้แย้งสิทธิตามสัญญาเช่ากันอยู่นั้นได้ แม้ห้องพิพาทจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ของจำเลย แต่เมื่อโจทก์ยังครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นอยู่ ถ้าจำเลยเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยปกติสุข จำเลยก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ ได้ และเห็นว่า การที่จำเลยใช้ไม้กระดานตีขวางทับประตูห้องที่โจทก์ครอบครองในขณะที่โจทก์ไม่อยู่และปิดห้องไว้ ทำให้โจทก์เข้าอยู่ในห้องไม่ได้ เป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของโจทก์ ถือได้ว่าเข้าไปกระทำการรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยปกติสุขตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด
พิพากษายืน.

Share