แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยร้องขอให้พิจารณาใหม่โดยระบุในคำขอว่า ในวันนัดจำเลยป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ มีอาการปวดศีรษะมากจนไม่สามารถลุกเดินไปไหนได้สะดวก คำพิพากษาคลาดเคลื่อน เพราะโจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่เคยร่วมกันเป็นนายหน้าซื้อขายที่ดินตามฟ้องหากจำเลยได้มีโอกาสต่อสู้คดีแล้วย่อมมีโอกาสชนะคดีอันจะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปดังนี้ พอถือได้ว่า คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้ง ซึ่งเหตุที่จำเลยได้ขาดนัดและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลตามความใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208วรรคสองแล้ว ปัญหาว่าจำเลยป่วยจริงหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยป่วยจริง โจทก์ทั้งสองมิได้ยกความข้อนี้ขึ้นโต้แย้งไว้ในชั้นอุทธรณ์ จึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาไม่ได้เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัยว่ามีเหตุสมควรอนุญาตให้พิจารณาใหม่หรือไม่นั้น จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อนหรือในขณะที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา จะนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งดังกล่าวแล้วมาพิจารณาหาได้ไม่ฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าหลังจากหายป่วยแล้วจำเลยได้พยายามแจ้งเหตุให้ศาลทราบนั้น เป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาแล้ว จึงเป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ทั้งสองฟ้องให้บังคับจำเลยแบ่งค่านายหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และพิพากษาให้จำเลยแบ่งเงินค่านายหน้าจำนวน568,960 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ทั้งสอง
จำเลยยื่นคำร้องว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยไม่มีทนายความและจำเลยป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถมาศาลได้ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังคลาดเคลื่อน เนื่องจากโจทก์ทั้งสอง จำเลย และนายอาคม มงคล ไม่เคยร่วมกันเป็นนายหน้าขายที่ดิน หากจำเลยมีโอกาสนำสืบพยานหลักฐานแล้ว จำเลยจะกลับเป็นฝ่ายชนะคดี ขอให้พิจารณาใหม่
โจทก์ทั้งสองคัดค้านว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยไม่ได้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่เป็นเพราะจำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานจำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบ และจำเลยไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้พิจารณาใหม่
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเงินส่วนแบ่งค่านายหน้าในการซื้อขายที่ดินจากจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธว่ามิได้ร่วมเป็นนายหน้ากับโจทก์ทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา แล้วพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวโดยฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองและพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชนะคดี การที่จำเลยร้องขอให้พิจารณาใหม่โดยระบุในคำขอว่าในวันนัดจำเลยป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ มีอาการปวดศีรษะมากจนไม่สามารถลุกเดินไปไหนได้สะดวก คำพิพากษาคลาดเคลื่อนเพราะโจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่เคยร่วมกันเป็นนายหน้าซื้อขายที่ดินตามฟ้องหากจำเลยได้มีโอกาสต่อสู้คดีแล้ว ย่อมมีโอกาสชนะคดีอันจะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้ พอถือได้ว่า คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยได้ขาดนัดและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสอง แล้ว
ส่วนข้อที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยมิได้ป่วยจริง ใบรับรองแพทย์ที่จำเลยนำมาแสดงไม่น่าเชื่อถือทั้งข้ออ้างที่ว่า หลังจากหายป่วยแล้วจำเลยได้พยายามติดต่อแจ้งเหตุให้ศาลทราบ ก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐานมาแสดงนั้นเห็นว่า สำหรับปัญหาว่าจำเลยป่วยจริงหรือไม่นั้น เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยป่วยจริง โจทก์ทั้งสองก็มิได้ยกความข้อนี้ขึ้นโต้แย้งไว้ในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ทั้งสองจึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาไม่ได้ เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัยว่ามีเหตุสมควรอนุญาตให้พิจารณาใหม่หรือไม่นั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อนหรือในขณะที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา จะนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งดังกล่าวแล้วมาพิจารณาหาได้ไม่ฎีกาของโจทก์ที่ว่าจำเลยไม่มีหลักฐานมาแสดงว่า หลังจากหายป่วยแล้วจำเลยได้พยายามแจ้งเหตุให้ศาลทราบนั้น เป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาแล้วจึงเป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
พิพากษายืน