แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
++ เรื่อง ตั๋วเงิน
++ โปรดดูย่อจากหนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม
++ เล่มที่ 8 หน้า 71 ++
++ ขอดูชุดพิเศษโปรดติดต่อห้องบริการเอกสารสำเนาคำพิพากษา (ห้องสมุด) ชั้น 4, 5 ++
ย่อยาว
เรื่อง ตั๋วเงิน
จำเลยที่ ๑ ฎีกาคัดค้าน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๒๔ เดือน เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๑
ศาลฎีกา รับวันที่ ๒๑ เดือน ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงแคชเชียร์เช็ค ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ เช็คเลขที่ ๑๒๓๕๒๓๒ ลงวันที่ ๑๘มิถุนายน ๒๕๓๙ จำนวนเงิน ๔๐๖,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ลงลายมือชื่อสลักหลังแล้วนำเช็คมาชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์ เมื่อแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์นำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๙ ว่า “มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย” เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระเงิน ๔๐๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๑๖ วัน เป็นเงินดอกเบี้ย ๑,๓๓๔ บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๔๐๗,๓๓๔ บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๔๐๖,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้สั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ และหรือจำเลยที่ ๓ เพื่อส่งมอบเงินกู้ที่จำเลยที่ ๒และที่ ๓ ได้ร่วมกันกู้ไปจากจำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๒ มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๑ ระงับการจ่ายเงินตามแคชเชียร์เช็ค โดยอ้างว่าแคชเชียร์เช็คหายเนื่องจากถูกชิงทรัพย์และได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วจำเลยที่ ๑ ได้ระงับการจ่ายเงินตามแคชเชียร์เช็คพิพาทโดยสุจริต โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๒และที่ ๓ ไม่ได้เป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์และไม่ได้สลักหลังเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์แย่งเช็คพิพาทไปจากจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ โดยทุจริต และเขียนชื่อจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ด้านหลังเช็คพิพาท จากนั้นได้นำเช็คพิพาทไปขึ้นเงิน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๔๐๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๙ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินไม่เกิน ๑,๓๓๔ บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ๓,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ ๑,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙ โจทก์ได้รับแคชเชียร์เช็คธนาคารอาคารสงเคราะห์ ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๓๙ จำนวนเงิน๔๐๖,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย และจำเลยที่ ๒ที่ ๓ ลงลายมือชื่อสลักหลังตามเอกสารหมาย จ.๑ จำเลยที่ ๒ นำมามอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืม เมื่อแคชเชียร์เช็คถึงกำหนดชำระเงินโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่จำเลยที่ ๑ ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่ ๘กรกฎาคม ๒๕๓๙ โดยให้เหตุผลว่า “มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย” ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.๒ โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉยโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชำระเงินตามแคชเชียร์เช็ค พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เหตุที่โจทก์ได้รับแคชเชียร์เช็คเนื่องจากจำเลยที่ ๒ได้กู้ยืมเงินโจทก์ ๓ ครั้ง ตามสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารหมาย จ.๓ถึง จ.๔ รวมทั้งสิ้นเป็นเงินกู้ ๓๙๙,๙๔๐ บาท เดิมจำเลยที่ ๒ ตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านเพื่อหักใช้หนี้เงินตามสัญญากู้ยืมเงินและจะชำระเงินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ ต่อมาเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ๒๕๓๙จำเลยที่ ๒ แจ้งว่าจำนองที่ดินพร้อมบ้านไว้แก่จำเลยที่ ๑ ได้ และนัดพบโจทก์ในวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙ ที่สำนักงานที่ดินสาขาลาดกระบังจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินและได้รับแคชเชียร์เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.๑ จากจำเลยที่ ๑ แล้วมอบแคชเชียร์เช็คพิพาทให้บุตรชายของจำเลยที่ ๒ ไป โจทก์กับเพื่อนจึงได้นัดกับจำเลยที่ ๒จะไปเอาแคชเชียร์เช็คที่พิพาทที่บ้านจำเลยที่ ๒ แต่ในระหว่างทางได้แวะเจรจากันที่ป้อมยามของเจ้าพนักงานตำรวจที่การเคหะร่มเกล้าซึ่งจำเลยที่ ๓ ก็ได้มาพบด้วย จำเลยที่ ๒ ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์และได้ให้นายยาซิน สุดประเวส น้องชายไปนำแคชเชียร์เช็คพิพาทมาให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ลงลายมือชื่อสลักหลังชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวพร้อมเงินกู้อีก ๓๐,๐๐๐ บาท ที่จำเลยที่ ๒ ยืมโจทก์เพิ่มอีกในขณะนั้นโดยหักหนี้เงินที่จำเลยที่ ๒ ได้รับไปจากโจทก์แล้วค้างชำระเท่าใดจำเลยที่ ๒ ตกลงชำระแก่โจทก์ภายใน ๓ เดือน ทั้งตกลงกันว่าเมื่อแคชเชียร์เช็คพิพาทเรียกเก็บเงินได้แล้ว โจทก์จะคืนหลักฐานการกู้ยืมเงินให้แก่จำเลยที่ ๒ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามแคชเชียร์เช็คพิพาทแล้วโจทก์สอบถามจำเลยที่ ๑ ได้ความว่าจำเลยที่ ๒ ได้ขอยกเลิกแคชเชียร์เช็คพิพาทและให้จำเลยที่ ๑ ออกแคชเชียร์เช็คฉบับใหม่ให้แทนฉบับพิพาทซึ่งอ้างว่าหายโดยถูกชิงทรัพย์ไป ตามสำเนารายงานประจำวันเอกสารหมาย จ.๕ แต่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งข้อหาชิงทรัพย์ คงรับแจ้งว่าเอกสารหายเท่านั้น ต่อมาวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๓๙ โจทก์ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลาดกระบังว่า จำเลยที่ ๒ แจ้งความเท็จว่าแคชเชียร์เช็คพิพาทสูญหายตามสำเนารายงานประจำวันเอกสารหมาย จ.๖ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๙ ทนายโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินตามแคชเชียร์เช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๗ และ จ.๘ และวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๙ โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๑ ระงับการออกแคชเชียร์เช็ค จำเลยที่ ๑ ได้รับหนังสือแล้วตามเอกสารหมาย จ.๑๐ และ จ.๑๑ แต่วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๙จำเลยที่ ๑ ออกแคชเชียร์เช็คฉบับใหม่ให้แก่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ กับพวกตามสำเนาแคชเชียร์เช็ค พร้อมเอกสารหมาย จ.๑๓ ถึง จ.๑๙อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ ๑ นำสืบว่า เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กับนางอนุสรณ์ สุดประเวส ได้ร่วมกันกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ ๑ จำนวน ๔๖๔,๐๐๐ บาท เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ล.๕ และผู้กู้ได้รับเงินจากจำเลยที่ ๑แล้ว เป็นแคชเชียร์เช็ค ๒ ฉบับ ฉบับแรกจำนวน ๕๘,๐๐๐ บาท อีกฉบับจำนวนเงิน ๔๐๖,๐๐๐ บาท ตามคู่ฉบับแคชเชียร์เช็คเอกสารหมาย ล.๖ซึ่งตรงกับแคชเชียร์เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.๑ โดยสั่งจ่ายให้แก่จำเลยที่ ๒ เพียงคนเดียว ตามความต้องการของผู้กู้ตามคำขอรับเงินกู้เอกสารหมาย ล.๗ จำเลยที่ ๒ ได้ลงลายมือชื่อไว้หลังหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ล.๕ เพื่อเป็นหลักฐานการรับแคชเชียร์เช็คไป ต่อมาวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๒ แจ้งว่าแคชเชียร์เช็คพิพาทเอกสารจ.๑ ถูกคนร้ายชิงไปขอยกเลิกแคชเชียร์เช็คดังกล่าวและขอให้จำเลยที่ ๑ระงับการจ่ายเงินตามแคชเชียร์เช็คพิพาทตามเอกสารหมาย ล.๘ ถึงล.๑๐ และ จ.๕ วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๑ จึงปฏิเสธการจ่ายเงินตามแคชเชียร์เช็คพิพาทว่า “มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย”จำเลยที่ ๑ กระทำการโดยสุจริตตามระเบียบที่กำหนดไว้ ต่อมาวันที่ ๘สิงหาคม ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และนางอนุสรณ์ ผู้กู้ ขอให้จำเลยที่ ๑ออกแคชเชียร์เช็คฉบับใหม่แทนฉบับเดิม ตามแคชเชียร์เช็คฉบับใหม่และเอกสารประกอบหมาย จ.๑๓ ถึง จ.๑๙ ผู้กู้ทั้งสามคนได้เบิกเงินตามแคชเชียร์เช็คที่ออกใหม่ไปแล้ว
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.๑ มอบให้แก่จำเลยที่ ๒ แทนเงินที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และนางอนุสรณ์ สุดประเวส ร่วมกันกู้ยืมจากจำเลยที่ ๑ ต่อมาโจทก์นำแคชเชียร์เช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน แต่จำเลยที่ ๑ ปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่ามีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเพราะจำเลยที่ ๒ มีหนังสือแจ้งแก่จำเลยที่ ๑ ให้ระงับการจ่ายเงิน โดยอ้างว่าแคชเชียร์เช็คพิพาทถูกชิงทรัพย์ไปต่อมาจำเลยที่ ๑ ออกแคชเชียร์เช็คฉบับใหม่ให้แก่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓กับพวกไป ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ข้อแรกมีว่าโจทก์เป็นผู้ทรงแคชเชียร์เช็คพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ โจทก์อ้างตนเองเบิกความประกอบหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๔ว่าจำเลยที่ ๒ กู้เงินโจทก์รวมเป็นเงิน ๓๙๙,๙๔๐ บาท (ที่ถูกคือ๓๙๙,๕๔๐ บาท) ในวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๒ กู้เงินโจทก์อีก ๓๐,๐๐๐ บาท และชำระหนี้บางส่วนด้วยแคชเชียร์เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.๑ โดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ลงลายมือชื่อสลักหลังมอบให้แก่โจทก์ ส่วนที่เหลือจะชำระคืนภายใน ๓ เดือน ซึ่งนายสุปัญญาสุขศิลป์ พยานโจทก์ก็มาเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ลงลายมือชื่อสลักหลังแคชเชียร์เช็คพิพาทมอบให้แก่โจทก์ไว้ด้วย จำเลยที่ ๑นำสืบว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และนางอนุสรณ์ สุดประเวส ร่วมกันกู้เงินจำนวน ๔๖๔,๐๐๐ บาท จากจำเลยที่ ๑ และได้รับแคชเชียร์เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.๑ ไป โดยจำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อหลังหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ล.๕ เพื่อเป็นหลักฐานในการรับแคชเชียร์เช็คพิพาทซึ่งลายมือชื่อจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ลงไว้ด้านหลังหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ล.๕ ดังกล่าว เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับลายมือชื่อผู้สลักหลังแคชเชียร์เช็คพิพาทและลายมือชื่อผู้กู้เงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๕ แล้ว มีลักษณะคล้ายคลึงกันเป็นอย่างยิ่งพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีน้ำหนักควรแก่การรับฟังดียิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ ๑ ว่า จำเลยที่ ๒ กู้เงินโจทก์ แล้วจำเลยที่ ๒และที่ ๓ ลงลายมือชื่อสลักหลังแคชเชียร์เช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงแคชเชียร์เช็คพิพาทโดยสุจริต
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ข้อต่อไปมีว่าจำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า เมื่อมีคำบอกกล่าวแก่จำเลยที่ ๑ ว่าแคชเชียร์เช็คพิพาทถูกชิงทรัพย์สูญหายไปและจำเลยที่ ๑ ได้ใช้สิทธิโดยสุจริตระงับและยกเลิกเช็คตามกฎหมายจึงไม่ต้องรับผิดชอบใช้เงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๙๙๑ และ ๙๙๒ นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๙๙๑ บัญญัติว่า “ธนาคารจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้าได้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่ในกรณีดังกล่าวต่อไปนี้ คือ (๑) … (๓)ได้มีคำบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป” และตามมาตรา ๙๙๒ บัญญัติว่า”หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้น ท่านว่าเป็นอันสุดสิ้นไปเมื่อกรณีเป็นดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (๑) มีคำบอกห้ามใช้เงิน…” เห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวนี้เป็นข้อยกเว้นที่ให้อำนาจธนาคารไม่จำต้องจ่ายเงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้าสั่งจ่ายมาเบิกเงินแก่ตนจึงเป็นคนละกรณีกับการที่ธนาคารซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงเช็คดังที่พิพาทกันในคดีนี้ เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่าเช็คพิพาทเป็นแคชเชียร์เช็คที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่าย หาใช่ผู้เคยค้าสั่งจ่ายเช็คพิพาทมาเบิกเงินจากธนาคารจำเลยที่ ๑ ไม่ จำเลยที่ ๑ จึงอ้างมาตรา ๙๙๑ (๓) และมาตรา ๙๙๒ (๑) มายกเว้นความรับผิดของตนต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คหาได้ไม่ เมื่อมาตรา ๙๐๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น” ฉะนั้นจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คพิพาท จึงต้องผูกพันตนเป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่จะต้องจ่ายเงินตามเช็คให้แก่ผู้ทรงเช็ค เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงแคชเชียร์เช็คพิพาทโดยชอบ จึงฟ้องให้จำเลยที่ ๑ รับผิดตามเช็คได้โดยตรง จำเลยที่ ๑ จะอ้างว่าได้ออกแคชเชียร์เช็คฉบับใหม่ให้แก่จำเลยที่ ๒ ไปแล้ว เพื่อปัดความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงแคชเชียร์เช็คพิพาทไม่ได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์๑,๐๐๐ บาท.