คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 220/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในการวินิจฉัยว่าคดีต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้นต้องพิจารณาบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันยื่นคำฟ้องฎีกา คดีฟ้องขับไล่ตามสัญญาเช่าแม้จะไม่มีประเด็นเรื่องขับไล่ในชั้นฎีกา แต่ในการวินิจฉัยว่าคดีต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่ก็ต้องแปลว่ามีประเด็นในเรื่องขับไล่ในชั้นฎีกาด้วย เพื่อให้บทบัญญัติของกฎหมายซึ่งใช้เฉพาะในชั้นฎีกามีผลเช่นเดียวกันอย่างแท้จริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2528 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกอบกิจการค้ามีกำหนดเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2528 เป็นต้นไป ต่อมาจำเลยมีหนังสือขอบอกเลิกสัญญาเช่าตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2530 เป็นต้นไป ครั้นถึงกำหนดเวลาที่จำเลยบอกเลิกการเช่า จำเลยไม่ส่งมอบสถานที่เช่าให้โจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย เพราะโจทก์สามารถที่จะนำออกให้ผู้อื่นเช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 50,000 บาท จากวันที่ 1 สิงหาคม2530 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 9 เดือนเศษ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน450,000 บาทขอให้บังคับจำเลยขนย้ายสิ่งของออกไปและส่งมอบสถานที่เช่าให้โจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 450,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายสิ่งของออกไปและส่งมอบสถานที่เช่าให้โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยได้เช่าที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างอันเป็นตัวอาคารพร้อมห้องทำงานตลอดจนอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ โดยตกลงค่าเช่าเดือนละ 18,000 บาท เมื่อจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวจากโจทก์แล้ว จำเลยได้ขนย้ายสิ่งของและส่งมอบสถานที่เช่าให้โจทก์ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2531 ภายในกำหนดเวลาที่โจทก์กำหนด จำเลยจึงไม่ผิดสัญญาหากโจทก์จะเสียหายเนื่องจากจำเลยส่งมอบสถานที่เช่าล่าช้า โจทก์ก็จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้เดือนละไม่เกิน 9,000 บาท เป็นเวลาเพียง 5 เดือน เป็นเงิน45,000 บาทเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 90,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ตามสัญญาเช่าเป็นการเช่าสถานที่เช่าและเช่าอุปกรณ์เครื่องมือรวมกันในอัตราค่าเช่าเดือนละ18,000 บาท ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้ให้โจทก์จึงสมควรแล้ว พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยได้ขนย้ายสิ่งของออกไปจากสถานที่เช่าและได้ส่งมอบสถานที่เช่าให้โจทก์แล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2531ก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องแล้ว คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องขับไล่ในชั้นนี้ คงมีปัญหาเฉพาะเรื่องค่าเสียหายเพียงอย่างเดียว เมื่อทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท และจำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 18ธันวาคม 2534 อันเป็นเวลาภายหลังจากวันที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 มาตรา 18 ใช้บังคับแล้วซึ่งมาตรา 248วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่นี้บัญญัติว่า “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท… ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง…” แม้จะมีวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ… เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาทหรือ…”ก็ตาม ก็ต้องแปลว่ามีประเด็นในเรื่องขับไล่ในชั้นฎีกาด้วยเพื่อให้บทบัญญัติของกฎหมายซึ่งใช้บังคับเฉพาะในชั้นฎีกามีผลเช่นเดียวกันอย่างแท้จริง จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share