คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 951/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยท้ากันว่า ขอให้แพทย์ตรวจกรุ๊ปยีน ของโจทก์ที่ 1ที่ 2 และจำเลย หากผลการตรวจพิสูจน์กรุ๊ปยีน ความเป็นบิดามารดาและบุตรเป็นยีนเดียวกันจำเลยยอมแพ้คดีหากผลการตรวจยีนเป็นคนละกรุ๊ปกันโจทก์ยอมแพ้คดีการตรวจเลือดพิสูจน์สายสัมพันธ์กระทำได้หลายวิธีแต่ในคำท้าไม่ได้ระบุว่าจะต้องตรวจโดยวิธีใดเมื่อทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการตรวจและแจ้งผลให้ทราบถือได้ว่าผู้เชี่ยวชาญได้ทำการตรวจกรุ๊ปยีน ของโจทก์ทั้งสองและจำเลยแล้วมีความเห็นตรงตามคำท้าของคู่ความ จึงเป็นการปฏิบัติโดยถูกต้องตามคำท้าแล้ว การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลนั้นมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นต้นไป และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยจะไม่ยกปัญหานี้ขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายมีผลทันทีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงไม่ต้องบังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนรับโจทก์ที่ 1 เป็นบุตร เมื่อศาลได้พิพากษาว่าผู้ใดเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วผู้มีส่วนได้เสียจะยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้วมาให้บันทึกในทะเบียนก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 และจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากันระหว่างปี 2516 ถึงปี 2521 แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส โจทก์ที่ 1เป็นบุตรของโจทก์ที่ 2 กับจำเลยเกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2518และใช้ชื่อสกุลของจำเลยตลอดมา ขณะนี้มีอายุ 17 ปีเศษ ต่อมาจำเลยแยกไปอยู่ต่างหาก โจทก์ที่ 2 ได้สมรสใหม่กับนายสุรนันท์ และนายสุรนันท์จดทะเบียนรับโจทก์ที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรม ก่อนฟ้องจำเลยเคยส่งเสียเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 เดือนละ 6,000 บาท พร้อมค่าศึกษาเล่าเรียนจนถึงเดือนพฤษภาคม 2535 จำเลยไม่ส่งเสียเลี้ยงดูโจทก์เป็นเวลา 3 เดือนก่อนฟ้อง โจทก์ที่ 1 ประสงค์จะใช้ชื่อสกุลของจำเลยซึ่งเป็นบิดาที่แท้จริง และให้นายสุรนันท์เลิกรับโจทก์ที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมให้จำเลยจดทะเบียนรับรองโจทก์ที่ 1 เป็นบุตรณ ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ และให้จำเลยชำระเงิน 18,000 บาทพร้อมกับให้ชำระเงินเดือนละ 6,000 บาท จนกว่าโจทก์ที่ 1 มีอายุครบ 25 ปี
จำเลยให้การว่า จำเลยเคยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์ที่ 2 แต่ได้เลิกเกี่ยวข้องกันแล้ว โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่เป็นบุตรของจำเลย หลังจากจำเลยกับโจทก์ที่ 2 เลิกเกี่ยวข้องต่อกันแล้วโจทก์ที่ 2 ได้มีความสัมพันธ์กับชายอื่นจำเลยไม่เคยส่งเสียเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถาน โจทก์จำเลยตกลงท้ากันว่า ขอให้โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ตรวจกรุ๊ปยีนของโจทก์ที่ 1ที่ 2 และจำเลยหากผลการตรวจพิสูจน์กรุ๊ปยีนความเป็นบิดามารดาและบุตรเป็นยีนเดียวกันแล้วจำเลยยอมแพ้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การตรวจผลออกมาเป็นไปตามคำท้าจำเลยต้องแพ้คดี พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนรับรองโจทก์ที่ 1เป็นบุตร ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน กับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองเป็นรายเดือนเดือนละ 6,000 บาท นับแต่เดือนที่ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ที่ 1 จะอายุครบ 25 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์จำเลยท้ากันว่า หากผลการตรวจพิสูจน์กรุ๊ปยีนความเป็นบิดามารดาและบุตรเป็นยีนเดียวกัน จำเลยยอมแพ้คดี หากผลการตรวจกรุ๊ปยีนเป็นคนละกรุ๊ปกัน โจทก์ยอมแพ้คดีปรากฏว่าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ได้มีหนังสือแจ้งขอให้โรงพยาบาลฯ ตรวจกรุ๊ปยีนของโจทก์ทั้งสองและจำเลยเพื่อประกอบการพิจารณาของศาล ผู้เชี่ยวชาญคือผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่แจ้งผลการตรวจโลหิตของโจทก์ทั้งสองและจำเลยว่า จากการตรวจโครโมโซมโพลีมอร์ไฟซิสบนโครโมโซมของโจทก์ที่ 1 เหมือนกับของโจทก์ที่ 2 และจำเลยสำหรับโครโมโซมวาย ของโจทก์ที่ 1 มีขนาดเท่ากับของจำเลยสรุปแล้วโอกาสที่โจทก์ที่ 1 จะไม่ใช่ลูกของโจทก์ที่ 2 และจำเลยนั้นมีน้อยมาก ดังนี้ถือได้ว่าผู้เชี่ยวชาญได้ทำการตรวจกรุ๊ปยีนของโจทก์ทั้งสองและจำเลยแล้วมีความเห็นตรงตามคำท้าของคู่ความ จำเลยจึงต้องแพ้คดีตามคำท้า ที่จำเลยฎีกาว่า นายแพทย์ผู้ตรวจได้ทำการตรวจโครโมโซมโพลีมอร์ไพซิสบนโครโมโซมเป็นการตรวจโครโมโซมมิใช่เป็นการตรวจกรุ๊ปยีนจากโลหิตที่ทางการแพทย์เรียกว่าดี เอ็น เอ พิงเกอร์ ปริ๊นท์ (Deoxyribonucleic acid Finger Print)ซึ่งการตรวจแบบดังกล่าวได้ผลเด่นชัดแน่นอนกว่าการตรวจโครโมโซมที่ทางโรงพยาบาลดำเนินการและส่งผลมาในคดีนี้เป็นการผิดวัตถุประสงค์ของคู่ความตามที่ได้ท้ากันไว้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการตรวจเลือดพิสูจน์สายสัมพันธ์กระทำได้หลายวิธี แต่ในคำท้าโจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่ได้ระบุว่าจะต้องตรวจโดยวิธีใด เพียงแต่ขอให้โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ตรวจกรุ๊ปยีนของโจทก์ทั้งสองและจำเลยเท่านั้น เมื่อทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการตรวจกรุ๊ปยีนให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติโดยถูกต้องตามคำท้าแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นรายเดือน เดือนละ 6,000 บาท นับแต่เดือนที่ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ที่ 1 จะอายุความ 25 ปี นั้นไม่ถูกต้อง เพราะการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลนั้นมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557(3) สำหรับคดีนี้ให้เริ่มแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นต้นไปแม้จำเลยจะมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
เนื่องจากการเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายมีผลทันทีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงไม่จำต้องบังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนรับโจทก์ที่ 1 เป็นบุตร ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพ.ศ. 2478 มาตรา 20 บัญญัติว่า เมื่อศาลได้พิพากษาว่าผู้ใดเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียจะยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้วมาให้บันทึกในทะเบียนก็ได้ ศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอในส่วนนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1ตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ที่ 1 จะอายุครบ 25 ปีและให้ยกคำขอในส่วนที่บังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนรับโจทก์ที่ 1 เป็นบุตรหากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share