คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2192/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในทางนำสืบโจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานแต่คำเบิกความของผู้เสียหายกับจำเลยยันกับอยู่จึงต้องอาศัยพยานแวดล้อมมาฟังประกอบคำเบิกความของผู้เสียหายผู้เสียหายมีบาดแผลที่ใบหน้าบริเวณโหนกแก้มขวาบวมช้ำเขียวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ3เซนติเมตรมีรอยถลอกเป็นทาง1เซนติเมตรที่บริเวณเขียวช้ำตามร่างกายไม่พบบาดแผลบาดเจ็บที่ใบหน้าจากของแข็งไม่มีคนใช้เวลารักษาประมาณ10วันหายถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนลักษณะของการกระทำและบาดแผลดังกล่าวไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์ผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจแต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดเพียงฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจการจะลงโทษจำเลยในฐานความผิดที่ได้ความจากทางพิจารณาจะต้องดูว่าคดีไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา95ด้วยเมื่อความผิดที่ได้ความจากทางพิจารณามีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนจึงมีอายุความหนึ่งปีตามมาตรา95(5)นับแต่วันกระทำความผิดจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่29เมษายน2533โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่16กรกฎาคม2535เป็นเวลาเกินกว่า1ปีแล้วคดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา185วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีมีดปลายแหลมยาวประมาณ 1 คืบ เป็นอาวุธได้ลักสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท จำนวน 1 เส้น ราคา 10,000 บาทธนบัตรฉบับละ 500 บาท จำนวน 6 ฉบับ ของนางท้าย พรมสุดาผู้เสียหายไปโดยทุจริตในการลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยใช้มือขวาตบใบหน้าผู้เสียหาย และเตะก้นเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นซึ่งทรัพย์นั้น ยึดถือเอาทรัพย์นั้น ปกปิดการกระทำผิดหรือให้พ้นจากการจับกุมโดยจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะหลบหนีไปขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 339 ทวิ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 13,000 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ให้จำคุก 10 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 13,000 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยหรือไม่ โจทก์มีนางท้าย พรมสุดา ผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 14 นาฬิกาผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยเป็นคนขับออกจากบ้านผู้เสียหายจะไปดูที่ดินที่บ้านหนองโพธิ์ อำเภอตาคลีจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยจอดรถทำร้ายผู้เสียหายและใช้อาวุธมีดขู่บังคับผู้เสียหายให้ถอดสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาทให้แก่จำเลย และจำเลยยังเอาเงินสดจำนวน 3,000 บาท ของผู้เสียหายไปด้วย ส่วนจำเลยนำสืบว่า ผู้เสียหายเป็นภริยาน้อยจำเลย อยู่กินกันมาก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 เดือน มีการแต่งงานกันตามประเพณีแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสเพราะจำเลยมีภริยาอยู่ก่อนแล้ว วันเกิดเหตุระหว่างทางที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปบอกขายโคเกิดทะเลาะโต้เถียงกันเนื่องจากความหึงหวง จำเลยจึงทำร้ายผู้เสียหายแต่ไม่ได้ชิงทรัพย์ ข้อเท็จจริงขณะเกิดเหตุเป็นอย่างไรคงมีแต่คำเบิกความของผู้เสียหายกับจำเลยยันกันอยู่ จึงต้องอาศัยพยานแวดล้อมมาฟังประกอบคำเบิกความของผู้เสียหาย และควรพิเคราะห์ด้วยว่าจำเลยกับผู้เสียหายอยู่กินกันฉันสามีภริยาจริงหรือไม่เพราะจำเลยต่อสู้ว่าการทะเลาะเกิดเพราะความหึงหวงจากคำเบิกความของผู้เสียหายไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเป็นภริยาน้อยจำเลย ทั้งจำเลยก็มิได้ถามค้านให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวในขณะที่ผู้เสียหายเบิกความเพราะศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีเพื่อให้ทนายจำเลยถามค้านแต่จำเลยนำสืบโดยนำนายสมบุญ ชำนาญไพรอดีตผู้ใหญ่บ้านกับนายสุชิน สังข์สิทธิ์ กำนันตำบลไร่พัฒนามาเบิกความว่า เคยไปร่วมในงานแต่งงานระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายเมื่อพิเคราะห์ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ปากร้อยตำรวจเอกปรีชา วัดเกี้ยวพงษ์ เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับจำเลย กับร้อยตำรวจโทสมเกียรติ ศรีมาคุณ พนักงานสอบสวนเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่าจำเลยบอกแก่พยานทั้งสองว่าจำเลยเป็นสามีของผู้เสียหาย พยานจำเลยและพยานโจทก์ที่กล่าวมาไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองผู้เสียหาย น่าเชื่อว่าเบิกความตามความเป็นจริงเมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของผู้เสียหายที่ว่า วันเกิดเหตุมีเพื่อนมาติดต่อให้หาซื้อที่ดิน ในวันนั้นจำเลยอยู่ที่บ้านด้วยจึงออกไปด้วยกัน น่าเชื่อว่าผู้เสียหายสนิทสนมกับจำเลยและอาจมีความสัมพันธ์กันเช่นที่จำเลยนำสืบ ผู้เสียหายจึงไว้ใจจำเลยให้พาไปธุระในทางไกล ๆและอาจจะมีเหตุเรื่องหึงหวงจริงก็ได้ ส่วนการที่ผู้เสียหายบอกแก่นางสำรวย ดีมี มารดาเลี้ยงเมื่อกลับมาถึงบ้านว่าจำเลยทำร้ายเอาสร้อยและเงินไปแต่นางสำรวยเป็นพยานบอกเล่าและยังเบิกความว่าเมื่อผู้เสียหายบอกเช่นนั้น พยานยังได้บอกแก่ผู้เสียหายว่าอย่าไปเอาเรื่องเอาราวเขาเลย ผู้เสียหายบอกว่าโมโหต้องเอาเรื่องเชื่อว่าผู้เสียหายโกรธเคืองจำเลยคงจะสืบเนื่องมาจากการทะเลาะและถูกจำเลยทำร้าย ส่วนผู้เสียหายมีทรัพย์สินติดตัวไปมากน้อยเพียงใด ก็คงมีแต่คำเบิกความของผู้เสียหายเท่านั้น และหากจำเลยประสงค์จะเอาทรัพย์สินของผู้เสียหาย จำเลยจะกระทำผิดที่บ้านผู้เสียหายก็ได้ เพราะอยู่ด้วยกันอยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้เสียหายยังเบิกความตอบคำถามศาลว่าวันที่เพื่อนจะพาไปดูที่ดินนั้น จำเลยดื่มสุราอยู่ที่บ้านกับคนที่มาหาซื้อที่ดินชื่อนายทมแต่ก็ไม่ปรากฏว่าเพื่อนคนไหนจะพาไปดูที่ดินเมื่อผู้เสียหายออกจากบ้านเหตุใดจึงไม่มีเพื่อนที่จะพาไปดูที่ดินนั้นไปด้วยข้อนำสืบของโจทก์จึงฟังไม่ได้สนิทใจว่า จำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ผู้เสียหายจริงตามฟ้อง ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
แต่อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงฟังได้จากคำเบิกความของผู้เสียหายประกอบกับรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องและข้อนำสืบของจำเลยว่า จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจริงซึ่งศาลลงโทษจำเลยในฐานความผิดที่ได้ความจากทางพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย เพราะความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้เมื่อความผิดฐานชิงทรัพย์ประกอบด้วยความผิดฐานลักทรัพย์และใช้กำลังประทุษร้ายคือทำร้ายร่างกาย ศาลจึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายได้ แต่จะเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 หรือทำร้ายร่างกายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 391 นั้นเห็นว่า การทำร้ายเพียงใดจะถือว่าเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจนั้น ต้องพิจารณาถึงการกระทำและบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับประกอบกัน โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนนี้จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้มือขวาตบตี บริเวณใบหน้าผู้เสียหายและเตะบริเวณก้น รายละเอียดบาดแผลปรากฏตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.4 ในชั้นพิจารณาผู้เสียหายเบิกความว่าจำเลยตบหน้าผู้เสียหาย 1 ครั้งเมื่อผู้เสียหายไม่ยอมให้ทรัพย์ตามที่จำเลยต้องการ จำเลยตบศีรษะผู้เสียหายอีกหลายที เตะด้วย พิเคราะห์รายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.4 ผู้เสียหายมีบาดแผลที่ใบหน้าบริเวณโหนกแก้มขวาบวมช้ำเขียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตรมีรอยถลอกเป็นทาง 1 เซนติเมตร ที่บริเวณเขียวช้ำตามร่างกายไม่พบบาดแผล สรุปว่าบาดเจ็บที่ใบหน้าจากของแข็งไม่มีคมใช้เวลารักษาประมาณ 10 วันหาย ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน ซึ่งลักษณะของการกระทำและบาดแผลดังกล่าวเห็นว่าไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะลงโทษจำเลยในความผิดตามที่ได้ความหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์ผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดเพียงฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นแต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ การจะลงโทษจำเลยในฐานความผิดที่ได้ความจากทางพิจารณาจะต้องดูว่าคดีไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ด้วย เมื่อความผิดที่ได้ความจากทางพิจารณามีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน จึงมีอายุความหนึ่งปีตามมาตรา 95(5) ทั้งนี้ให้นับแต่วันกระทำความผิดจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2533 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่16 กรกฎาคม 2535 เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่งที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง

Share